แชมป์คอมมิวฯ แล้วไงต่อ : อาร์เซน่อล พร้อมสำหรับการเป็นแชมป์ พรีเมียร์ลีก แล้วหรือยัง? - OPINION

• อาร์เซน่อล ซิวแชมป์ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2023 ได้อย่างยอดเยี่ยม
• แต่กับของจริงอย่าง พรีเมียร์ลีก ยังเป็นคำถาม
• แล้ว อาร์เซน่อล ต้องทำอย่างไรเพื่อให้พร้อมสำหรับการโค่น แมนฯ ซิตี้ ลงจากบัลลังก์?
Manchester City v Arsenal - The FA Community Shield
Manchester City v Arsenal - The FA Community Shield / Chris Brunskill/Fantasista/GettyImages
facebooktwitterreddit

เอาฤกษ์เอาชัยต้อนรับฤดูกาลใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับ อาร์เซน่อล ที่คว้าแชมป์ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2023 มาครองได้สำเร็จด้วยชัยชนะเหนือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่กระนั้น ในระยะยาวยังคงเป็นคำถามว่า ถัดจากแชมป์โล่การกุศลที่ยังเป็นกึ่งๆ เกมปรีซีซั่นนั้น พลพรรคปืนใหญ่ของ มิเกล อาร์เตต้า พร้อมสำหรับการเป็นแชมป์ พรีเมียร์ลีก จริงๆ แล้วหรือยัง?

แชมป์ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ แล้วไงต่อ

อย่างที่ว่าไว้วันก่อน ว่าคงเป็น "เรื่องบังเอิญ" มากกว่าจะเป็นอาถรรพ์อะไร เพียงแต่ข้อเท็จจริงของทีมแชมป์ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ก็ออกจะต้องจบซีซั่นด้วยความผิดหวังจากการพลาดแชมป์ พรีเมียร์ลีก มากกว่าจริง

ยิ่งโดยเฉพาะกับ อาร์เซน่อล สถิติในแง่นี้ ยิ่งปรากฏผลลัพธ์น่าหวั่นใจขึ้นไปอีก

ว่าจากแชมป์คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 8 รอบก่อนหน้านี้ที่คว้ามาได้--นับเฉพาะในยุคพรีเมียร์ลีก (ยังมียุคโบราณก่อนพรีเมียร์ลีกอีก 8 หน รวมเป็น 17 สมัย) ปรากฏว่า "ไม่มีเลยสักครั้ง" ที่ อาร์เซน่อล จะเข้าป้ายครองแชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อจบซีซั่นนั้นๆ

ปี

ผลคอมมิวฯ

จบซีซั่น

1998

ชนะ แมนยู 3-0

อันดับ 2

1999

ชนะ แมนยู 2-1

อันดับ 2

2002

ชนะ ลิเวอร์พูล 1-0

อันดับ 2

2004

ชนะ แมนยู 3-1

อันดับ 2

2014

ชนะ แมนฯ ซิตี้ 3-0

อันดับ 3

2015

ชนะ เชลซี 1-0

อันดับ 2

2017

ชนะจุดโทษ เชลซี

อันดับ 6

2020

ชนะจุดโทษ ลิเวอร์พูล

อันดับ 8

น่าแปลกใจดีเหมือนกันว่า ในทุกแชมป์ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ที่ทำสำเร็จของ อาร์เซน่อล ทั้งยุค อาร์แซน เวนเกอร์ และ มิเกล อาร์เตต้า ล้วนแต่ลงเอยซีซั่นนั้นๆ แบบที่ไปไม่ถึงแชมป์พรีเมียร์ลีก โดยที่มีถึง 5 ครั้งที่ออกลูก "เฉี่ยว" เข้าป้ายเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีก

  • 1998/99 แพ้ แมนฯ ยูไนเต็ด แต้มเดียว 78:79

    1999/00 แพ้ แมนฯ ยูไนเต็ด ขาดลอย 18 แต้ม 73:91

    2002/03 แพ้ แมนฯ ยูไนเต็ด 5 แต้ม 78:83

    2004/05 แพ้ เชลซี 12 แต้ม 83:95

    2015/16 แพ้ เลสเตอร์ ซิตี้ 10 แต้ม 71:81

ภาพที่เกิดขึ้นตลอดในอดีต คงเป็นการบอกอย่างหนึ่งว่า แชมป์ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ที่ อาร์เซน่อล คว้ามาได้ ไม่ได้แปรผกผันหรือเป็นการส่งสัญญาณใดทั้งสิ้น ว่าซีซั่นที่รออยู่ข้างหน้าจะเข้าข่ายประสบความสำเร็จ

กับ 2023/24 ที่รออยู่ก็เช่นกัน มันยังคงเป็นคำถามสำคัญว่า อาร์เซน่อล พร้อมสำหรับการเป็นแชมป์ พรีเมียร์ลีก แล้วจริงๆ ไหม และต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อไปถึงตรงนั้น?

Mikel Arteta
Manchester City v Arsenal - The FA Community Shield / Robin Jones/GettyImages

แช่งให้ แมนฯ ซิตี้ เตะหลุด (เสียที!)

แน่นอนว่า อาร์เซน่อล จะต้องประชันขันแข่งกับหลายทีม ใครจะรู้ว่า เชลซี หรือ ลิเวอร์พูล อาจกลับมาแกร่งได้แล้ว หรือ แมนฯ ยูไนเต็ด, นิวคาสเซิ่ล, สเปอร์ส อาจแข็งขึ้นกว่าที่เคยเป็น

แต่สำคัญสุดก็คือ "เจ้าของบัลลังก์" อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นั่นแหละ

เพราะภายใต้การทำทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า มันก็เป็นอย่างที่เราเห็นเสมอมาในตลอด 7 ปี ว่าหลังจากซีซั่นแรกสุด (2016/17) ของการทดลองทีม ปรับตัวปรับใจ ทำความรู้จักกับ พรีเมียร์ลีก แล้ว ถัดจากนั้นมาอีก 6 ซีซั่นต่อเนื่องกัน ก็มีแต่ความ "โคตรแข็ง" ที่ แมนฯ ซิตี้ นำมาเสิร์ฟ

  • 2017/18 กดไป 100 แต้มเต็ม

    2018/19 มาตรฐานคงเดิม 98 คะแนน

    2019/20 ดร็อปลงมาหน่อย 81 แต้ม (และพลาดแชมป์)

    2020/21 กลับไปเป็นแชมป์อีกหนด้วย 86 แต้ม

    2021/22 ท็อปพีคอีกครั้ง 93 แต้ม

    2022/23 คะแนนในลีกอาจไม่สูงลิบ 89 คะแนน แต่ "สามแชมป์" นะครับนะ

กับ 90 นาทีของ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ เมื่อวันอาทิตย์ ที่จริง แมนฯ ซิตี้ ก็กำลังจะขึ้นแท่นผงาดแชมป์ได้อีกรายการ ถ้าไม่ปรากฏว่าลูกยิงของ เลอันโดร ทรอสซาร์ ตอน 90+11 แฉลบขากองหลังผลุบเข้าประตูไปอย่างโชคร้าย จนเกมต้องตัดสินด้วยการโยนหัวก้อยอย่างดวลจุดโทษ

นั่นหมายถึงว่า แมนฯ ซิตี้ ก็ยังน่ากลัวอยู่เหมือนเดิม และที่สำคัญ น่าหวั่นเกรงว่าพวกเขาจะแข็งขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำกับการโปะ 100 ล้านปอนด์ลงตลาด คว้า ยอสโก้ กวาร์ดิโอล มาเติมเกมรับ กับ มาเตโอ โควาซิช มาเพิ่มบาลานซ์แดนกลาง แถมยังมีข่าวอีกว่า การเสีย ริยาด มาห์เรซ ไป (อัล-อาห์ลี) มีสิทธิ์จะถูกทดแทนด้วยตัวริมเส้นดีๆ อีกสักคนก่อนตลาดปิด

เพียงแต่เมื่อชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง อาร์เซน่อล ก็ยังแอบหวังได้อยู่ว่า มาตรฐานของ แมนฯ ซิตี้ จะดร็อปลงไปบ้าง ด้วยเหตุผลสำคัญอย่างการเสีย อิลคาย กุนโดกัน มิดฟิลด์ระดับกัปตันทีม ที่เล่นได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อในโค้งสุดท้ายซีซั่นก่อน จนเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการจ้ำพรวดแซงปืนใหญ่ขึ้นไปเป็นแชมป์

ถัดมา คือการแอบแช่งว่า เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์ จะไม่ตูมตามโครมครามเหมือนซีซั่นก่อนที่กดไป 52 ประตูจาก 53 เกม...แต่ออกลูกแผ่วให้เห็นชัดในช่วงท้าย ที่ยิงได้แค่ "ลูกเดียว" จากระยะ 8 เกมสุดท้ายของซีซั่น

หรือ เควิน เดอ บรอยน์, แบร์นาร์โด้ ซิลวา, จอห์น สโตนส์ หรือ ไคล์ วอล์คเกอร์ (ถ้ายังไม่ย้าย) จะถึงจุดอิ่มตัว ลงเล่นแบบไม่มีความหิวกระหายแชมป์อีกต่อไป

แม้ทั้งหมดทั้งมวลอาจฟังดูลมๆ แล้งๆ แต่ก็ต้องดูกันยาวๆ และใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

Erling Haland, Josep Guardiola
Manchester City v Arsenal - The FA Community Shield / Marc Atkins/GettyImages

ทำตัวเองให้พร้อมที่สุด

เผาพริกเผาเกลือแช่งคู่แข่ง และก็ต้องหวังให้ตัวเองก้าวข้ามขีดจำกัดที่เคยเป็นมา ไปให้ได้

ซึ่งจนถึงตอนนี้ ก็ดูว่า มิเกล อาร์เตต้า ได้พยายามทำสิ่งนั้นแล้ว ด้วยการทุ่มเงินมหาศาลเป็นประวัติการณ์กว่า 200 ล้านปอนด์ ซื้อของใหม่มาเติมเต็มขุมกำลัง 3 ราย

เอา ไค ฮาแวร์ตซ์ (65 ล้านปอนด์) มาเป็นตัวเลือกสารพัดประโยชน์ กลางรุกก็ดี หน้าเป้าก็พอถูไถ (แม้จะผลงานแย่กับการยืนตรงนี้ให้ เชลซี ซีซั่นก่อนก็เถอะ)

เอา ยูร์เรียน ทิมเบอร์ (38 ล้านปอนด์) มาเป็นตัวเลือกสารพัดประโยชน์เช่นกันในเกมรับ เล่นได้หมดทั้งเซนเตอร์แบ็ก, ฟูลแบ็ก หรือกระทั่งมิดฟิลด์ตัวรับ

เอา ดีแคลน ไรซ์ (105 ล้านปอนด์) มาเป็นกำลังหลักในแดนกลาง เป็นตัวทดแทนที่ดีกว่าของ กรานิต ชาก้า ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ได้ทั้งรุกและรับและใช้งานได้ยาวนานหลายปี

สามคนนี้ ชัดเจนว่าคือความพยายามของ อาร์เตต้า ที่จะอุดรูรั่วเรื่อง "คุณภาพเชิงลึก" ที่ อาร์เซน่อล ยังขาดไปในการเบียดแย่งแชมป์ระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ แมนฯ ซิตี้

นอกนั้น ก็ดูเหมือนว่า ตำแหน่งนายทวารจะถูกเพิ่มด้วยตัวเลือกดีๆ อย่าง ดาบิด ราย่า จาก เบรนท์ฟอร์ด ที่คงทำให้ อารอน แรมส์เดล ต้องหนาวๆ ร้อนๆ ว่ามีสิทธิ์โดนดร็อปได้ทุกเมื่อ

ยังมีรายงานเมื่อวันก่อนว่า อาร์เตต้า เล็งจะคว้า อายเมอริก ลาป๊อร์กต์ เซนเตอร์แบ็กฝรั่งเศส มาจาก แมนฯ ซิตี้ อีกคน ที่หากว่าเป็นจริงตามข่าว--ที่ว่าเรือพร้อมปล่อยในราคาเบาแค่ 30 ล้านปอนด์ ก็อยากแนะนำให้จ่ายเลยไม่ต้องคิดเยอะ ดีไม่ดีจะกลายมาเป็นคู่ขาคนใหม่ของ วิลเลี่ยม ซาลิบา เอา แล้วเบียด กาเบรียล มากัลเญส ลงสำรองไป

สิ่งที่ อาร์เตต้า ต้องทำการบ้านเพิ่มเติมคือ "หน้าเป้า" ที่ในความเห็นของเรา เขาควรเก็บตัว โฟลาริน บาโลกัน (22 ประตูกับ แร็งส์ ซีซั่นก่อน) เอาไว้เป็นตัวสลับสักหน่อยก่อน มากกว่าจะคิดพึ่งพา เอ๊ดดี้ เอ็นเคเทียห์ หรือ ฮาแวร์ตซ์ ในช่วงเวลาที่ กาเบรียล เชซุส ไม่พร้อมลงสนาม

อย่างที่ว่าไว้ในบรรทัดแรก อาร์เซน่อล ต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปให้ได้ ซึ่งก็คือเรื่องของอาการ "แผ่วปลาย" ที่อยู่คู่กับทีมมานานนับสิบๆ ปี อันรวมถึงซีซั่นก่อนที่ชนะได้แค่ 3 จาก 9 เกมลีกสุดท้าย จนท้ายสุดก็ตกจากจ่าฝูงที่อุตส่าห์ยึดไว้ได้ตั้งนมนาน

Declan Rice, Kai Havertz, Jurrien Timber
Manchester City v Arsenal - The FA Community Shield / Marc Atkins/GettyImages

ยังต้องการโชคและดวงส่งเสริม

นอกจากปัจจัยที่สามารถควบคุมได้อย่างฟอร์มการเล่นตัวเองแล้ว อาร์เซน่อล ก็ยังต้องการเรื่องที่อธิบายได้ยากอย่าง "โชคและดวง" ช่วยส่งเสริม ด้วยเหมือนกัน

อย่างในซีซั่นก่อน โชคและดวงที่กำลังมาดีๆ (เช่นเกมที่ชนะ แอสตัน วิลล่า 4-2 แบบยิงสองลูกทดเจ็บ หรือชนะ บอร์นมัธ 3-2 ตอน 90+7) อยู่ดีๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบด้วยปัญหาบาดเจ็บของ วิลเลี่ยม ซาลิบา ที่เมื่อขาดคีย์แมนแดนหลังรายนี้แล้ว อาร์เซน่อล ก็ลงสนามไปพร้อมการเสียประตูในทุกนัด

ความโชคร้ายยังถูกถมทับด้วยเกมสุดสำคัญกับ แมนฯ ซิตี้ (1-4) ที่ไม่มี ซาลิบา คุมเกมรับ จนเล่นกันแค่ 7 นาทีก็โดนเจาะประตูนำแล้ว (เควิน เดอ บรอยน์)

ในทางตรงกันข้าม แชมป์ที่ แมนฯ ซิตี้ ได้มาถึง 5 สมัยจาก 7 ซีซั่นหลัง ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าโชคดวงมีส่วนเกื้อหนุนพวกเขาอยู่พอสมควร แม้สัดส่วนของคุณภาพและการทำงานหนักจะมีมากกว่าก็ตาม

William Saliba, Ruben Dias
Manchester City v Arsenal - The FA Community Shield / Robin Jones/GettyImages

ตกลงพร้อมหรือยัง?

อย่างที่ว่าไว้ข้างต้น หากดูจากตลาดนักเตะและฟอร์มภาพรวมของ ปรีซีซั่น + คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ก็ควรต้องถือว่า อาร์เตต้า ทำได้ถูกทางทีเดียวในการพยายามกลบปัญหาที่ทีมชุดก่อนๆ เคยมีมา

แต่การที่จะบ่งชี้ลงไปชัดๆ ว่า อาร์เซน่อล พร้อมสำหรับการก้าวข้าม แมนฯ ซิตี้ ขึ้นไปเป็นแชมป์ พรีเมียร์ลีก ครั้งแรกในรอบ 20 ปีแล้วหรือยัง จำเป็นที่จะต้องดูกันที่ "ผลการแข่งขัน" เมื่อซีซั่นใหม่เริ่มต้นขึ้น

ตั้งแต่วันเสาร์นี้เลย ที่ทุกเกม ทุกแต้มล้วนแต่มีความหมายสูง อาร์เซน่อล จำเป็นต้อง "เล่นอย่างซีเรียส" ตั้งแต่ต้นยันจบ ไม่มีปล่อยผ่าน ไม่มีผ่อนเครื่อง ไม่มีโยนทิ้งเกมบางเกมไปเพื่อเน้นบอลยุโรป อะไรทั้งสิ้น -- ตรงกันข้าม ถ้าท้ายซีซั่นมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่าง พรีเมียร์ลีก กับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ควรจิ้มชอยส์แรกมากกว่าด้วย

นี่คือโปรแกรม 11 เกมแรกของ อาร์เซน่อล ใน พรีเมียร์ลีก 2023/24


  • 12/08 (เหย้า) น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์

    21/08 (เยือน) คริสตัล พาเลซ

    26/08 (เหย้า) ฟูแล่ม

    03/09 (เหย้า) แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

    16/09 (เยือน) เอฟเวอร์ตัน

    24/09 (เหย้า) ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์

    30/09 (เยือน) บอร์นมัธ

    07/10 (เหย้า) แมนฯ ซิตี้

    21/10 (เยือน) เชลซี

    28/10 (เหย้า) เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด

    04/11 (เยือน) นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด

แม้เอาเข้าจริง 11 เกมแรกจะยังให้คำตอบอะไรชัดๆ ไม่ได้ แต่เราก็น่าจะเริ่มมองเห็นเค้าลางแล้วว่า อาร์เซน่อล จะมีทิศทางเป็นไปอย่างไรในซีซั่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อโค้งแรก 3 เดือนเศษๆ นี้ มีคิวที่ต้องเจอกับทีมใหญ่ถึง 5 ราย (ผี, ไก่, เรือ, สิงห์, สาลิกา) ส่วนคิวเหย้าเยือนกับ ลิเวอร์พูล ถูกวางไว้ช่วงสิ้นปีต่อขึ้นปีใหม่

อย่างที่ว่า อาร์เซน่อล จำต้องเล่นอย่างซีเรียส เน้นสุดตัวตั้งแต่ต้น เพื่อที่อย่างน้อยที่สุด จะได้เข้ากับ "มาตรฐานของทีมแชมป์" ที่ แมนฯ ซิตี้ ได้ตั้งเอาไว้ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา

มาตรฐานที่ว่า เห็นชัดสุดคือการ "แพ้ไม่เกิน 5 นัด" ในแต่ละปี -- ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แมนฯ ซิตี้ หลุดแพ้เกิน 5 นัดแค่ 2 หน คือ 2019/20 ที่แพ้เยอะถึง 9 นัด และแชมป์ตกเป็นของ ลิเวอร์พูล (ที่แพ้แค่ 3 เกม) กับ 2020/21 ที่แพ้ไป 6 เกม แต่ยังดีพอจะกลับสู่แชมป์ได้

สำหรับ อาร์เซน่อล เริ่มที่จะเข้าเค้ามาตรฐานนี้อยู่เหมือนกันในซีซั่นก่อน ที่หลุดแพ้แค่ 6 นัดเท่านั้น เพียงแต่ว่าความพ่ายแพ้ 2 นัดในจำนวนนี้ ก็ดันเป็นการมอบ 6 แต้มเต็มให้กับ แมนฯ ซิตี้ (เหย้า 1-3 / เยือน 1-4) นั่นเอง

ฉะนั้น การดูว่า อาร์เซน่อล พร้อมสำหรับการครองแชมป์ พรีเมียร์ลีก แล้วหรือไม่ อาจไม่จำเป็นต้องมองไกล ไม่ต้องรอเวลาดูกันยาวนานนัก

เริ่มต้นที่เสาร์นี้ ถ้าเปิดด้วยชัยชนะก็ดีไป แต่ถ้าออกหน้าอื่นขึ้นมาก็ย่อมหมายถึงว่า ประตูสู่แชมป์ พรีเมียร์ลีก ถูกแง้มปิดลงตั้งแต่ยังไม่ทันจะอ้าขึ้นเลย

Arsenal v FC Barcelona - Pre-Season Friendly
Arsenal v FC Barcelona - Pre-Season Friendly / Kevork Djansezian/GettyImages