[FEATURE] เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #45
โดย โตมร นวลประเสริฐ
เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ เป็นผู้จัดการทีมอันดับที่ 45 ในการจัดอันดับ ผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของเรา ผู้อ่านสามารถติดตาม 11 ผู้เล่นยอดเยี่ยมภายใต้การคุมทีมของ แรมซีย์ ได้ ที่นี่
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ยังค้าแข้ง เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ ลงเล่นในระดับสโมสรให้กับเพียงแค่ 2 ทีมเท่านั้นตลอดเส้นทางของเจ้าตัว ขณะที่เส้นทางกุนซือ แรมซีย์ คุมเพียงแค่ 2 ทีมเท่านั้น เขากลายเป็นตำนานจากการพาทีมชาติ อังกฤษ ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ ฟุตบอลโลก อันเป็นที่มาของการเป็นกุนซือที่ได้รับยศขั้นอัศวินเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์
ในอีกทางหนึ่ง แม้ แรมซีย์ จะเป็นกุนซือระดับปรมาจารย์แต่บุคลิกส่วนตัวโดย อีเอสพีเอ็น ระบุว่าเขาเป็นคนประเภทเข้าถึงยากและเป็นพวก ‘หมาป่าเดียวดาย’ กระทั่งเจ้าตัวเองก็บอกว่าเขาเป็นคนที่ยากจะทำความรู้จัก
นั่นคือทิศทางในการดำเนินชีวิตของ แรมซีย์ ที่ฟุตบอลไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต เขาพยายามปลีกวิเวกจากฉากลูกหนังที่ทำให้กลายเป็นคนมีชื่อเสียงเมื่อภารกิจสิ้นสุดลง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความพิเศษของตำนานกุนซือรายนี้ลดน้อยลงไปแม้เพียงนิดเดียว
หลังการค้าแข้งในตำแหน่งแบ็คขวาผู้ไว้วางใจได้กับ เซาแธมป์ตัน และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เขาเริ่มต้นเส้นทางกุนซือกับ อิปสวิช ทาวน์ ในปี 1955 กับบทบาทผู้เล่นควบผู้จัดการทีมในลีก ดิวิชัน 3 อันเป็นจุดเริ่มต้นของความเกรียงไกรในเวลาต่อมา
เกียรติยศ
แชมป์ดิวิชัน 3 (1956/57)
แชมป์ดิวิชัน 2 (1960/61)
แชมป์ดิวิชัน 1 (1961/62)
แชมป์ฟุตบอลโลก (1996)
ในช่วงการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะผู้จัดการทีม อิปสวิช อดีตเพื่อนร่วมทีมชาติ อังกฤษ ของเจ้าตัวอย่าง บิลลี ไรท์ ได้ออกมายกย่องว่าเขาว่า “การที่ อิปสวิช ว่าจ้างเขาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่นับเป็นการสดุดีต่อนักฟุตบอลที่ชาญฉลาด!”
แม้ว่าแท็คติกของ แรมซีย์ จะมีข้อกังขาอยู่บ้างแต่สิ่งที่โดดเด่นอันดับแรกคือการนำเอาวิธีการเล่นแบบดันขึ้นสูงไล่บีบพื้นที่อันเป็นหนึ่งในต้นตำรับของ โททัลฟุตบอล ซึ่งเจ้าตัวได้รับอิทธิพลมาจากสมัยยังเป็นนักเตะกับ สเปอร์ส ภายใต้การคุมทีมของ อาร์เธอร์ โรว์ มาปรับใช้จนพา อิปสวิช ซิวแชมป์ลีกสูงสุดทันทีหลังจากเลื่อนชั้น
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ แรมซีย์ รวมทั้ง 3 ผู้จัดการทีมจากการจัดอันดับผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมที่สุด 6 คนแรกของเรามาเติบโตมาจากการเป็นลูกศิษย์ของ โรว์ ที่ สเปอร์ส อย่าง วิค บัคกิงแฮม และ บิล นิโคลสัน
ความโดดเด่นของ แรมซีย์ อันดับต่อมาเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เขายังคงสวมยูนิฟอร์ม ทรีไลอ้อนส์ ไล่หวดลูกหนังเคียงข้าง บิลลี ไรท์ โดยย้อนกลับไปในปี 1953 ที่ เวมบลีย์ อันเป็นเกมกระชับมิตรระหว่าง อังกฤษ กับ ฮังการี
ทีมชาติ ฮังการี ในเวลาดังกล่าวรั้งตำแหน่งเจ้าของแรงกิ้งอันดับที่ 1 ของโลกกับสถานะแชมป์ โอลิมปิก หมาดๆ รวมทั้งยังครองสถิติไร้พ่าย 24 เกมติดต่อกันก่อหนหน้า พวกเขาสามารถบุกไปถล่มเอาชนะ สิงโตคำราม เละเทะคาบ้าน 6-3 จนทำให้ อังกฤษ ที่คิดว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในเต้ยของ ยุโรป เวลานั้นต้องกลับไปทบทวนรูปแบบการเล่นของตัวเองเป็นการใหญ่ทั้งในระดับสโมสรไปจนถึงนานาชาติ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของพวกเขาในที่สุด โดยเกมดังกล่าวถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘แมตช์แห่งศตวรรษ’
แผนการเล่นของ อังกฤษ 3-2-2-3 (3 กองหลัง, 2 ฮาล์ฟแบ็ค, 2 อินไซด์ฟอร์เวิร์ด และ 3 กองหน้า) ถูกรูปแบบ 2-3-3-2 ของ ฮังการี ไล่ขโยกไม่เป็นท่าในเกมดังกล่าวโดยมีหัวใจสำคัญที่แดนกลางอันประกอบด้วยเพลย์เมคเกอร์ตัวต่ำปั้นเกมกับจอมทัพผู้เคลื่อนที่อย่างอิสระระหว่างไลน์
จากประสบการณ์ที่โชกโชนและจุดเปลี่ยนที่กล่าวไปข้างต้นของ แรมซีย์ ทำให้เขาพาพลพรรค อิปสวิช จนฤดูกาลด้วยอันดับที่ 3 ของศึกดิวิชัน 3 ในซีซันแรกที่รับงาน ตามด้วยการคว้าแชมป์ฤดูกาลถัดมา ตามด้วยการเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดใน 3 ปีให้หลังและคว้าแชมป์ลีกสูงสุดทันทีในปีแรกที่เลื่อนชั้น นับเป็นผู้จัดการทีมรายที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่พาทีมซิวแชมป์ดิวิชัน 2 และดิวิชัน 1 ติดต่อกัน
และทันทีที่ทีมชาติ อังกฤษ เคาะประตูเปิดโอกาสให้เขาไปคุมทัพ ที่เหลือหลังจากนั้นก็กลายเป็นตำนาน
แรมซีย์ จัดการเปลี่ยนแปลงทีมชาติ อังกฤษ ในทันทีหลังจากรับตำแหน่งด้วยการเลือกตัวผู้เล่นด้วยตนเอง นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญเมื่อก่อนหน้านั้นสมาคมฟุตบอลอังกฤษมีคณะกรรมการเลือกสรรผู้เล่นติดทีมทำหน้าที่เหนือผู้จัดการทีมด้วยซ้ำ
แรมซีย์ ประกาศก้องในปี 1963 ว่าทีมชาติ อังกฤษ ภายใต้การคุมทีมของเขาจะก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์โลกในปี 1966 นับเป็นการแสดงทัศนคติสุดสุดห่ามแต่เขาสามารถทำให้ลูกทีมเชื่อมั่นในตนเองได้จากความเชื่อดังกล่าวถึงขนาดที่ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “อังกฤษ เป็นตัวเต็งสำหรับ เวิลด์คัพ 1966 ซึ่งทัศนคติของ อัลฟ์ แรมซีย์ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย”
ความกล้าได้กล้าเสียของ แรมซีย์ ยังคงแสดงให้เห็นอีกครั้งในทัวร์นาเมนต์ ฟุตบอลโลก 1966 ในแมตช์สุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มที่พวกเขาเอาชนะ ฝรั่งเศส 2-0 การเข้าสกัดหนักของ น็อบบี้ สไตลส์ ใส่ผู้เล่น ตราไก่ ในเกมดังกล่าวทำให้ ฟีฟ่า จ้องที่จะแบนลูกทีมของ แรมซีย์ โดยกุนซือ สิงโตคำราม ที่ปกป้องลูกทีมชนิดหัวเด็ดตีนขาดกับ เอฟเอ ไปถึง ฟีฟ่า ว่าหาก สไตลส์ ถูกแบน ตัวเขาจะลาออกจากตำแหน่งนายใหญ่ทันที
ในเกมเดียวกันนั้น แรมซีย์ ยังต้องเสีย จิมมี กรีฟส์ ที่มีสถานะเป็นดาวยิงตัวความหวังจากอาการบาดเจ็บ นายใหญ่ ทรีไลอ้อนส์ ส่ง เจฟฟ์ เฮิร์สท์ ที่เพิ่งจะติดทีมชาติ อังกฤษ ในปี 1966 เป็นปีแรกลงสนามแทนที่และไว้วางใจให้ เฮิร์สท์ ลงเล่นต่อเนื่องไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศแม้ กรีฟส์ จะหายเจ็บกลับมาแล้วก็ตาม
เมื่อเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ เฮิร์สท์ ตอบแทนความไว้วางใจด้วยการซัดประตูชัยเขี่ย อาร์เจนตินา ตกรอบ ก่อนที่ในนัดชิงชนะเลิศเขาจะกลายเป็นนักเตะคนแรกและคนเดียวที่สามารถทำแฮตทริคได้สำเร็จ พาทีมเอาชนะ เยอรมนีตะวันตก 4-2 หลังช่วงต่อเวลาพิเศษ
เส้นทางการคุมทีม
อิปสวิช ทาวน์ (1955-63)
อังกฤษ (1963-74)
เบอร์มิงแฮม ซิตี้ (1977-78)
บทความชุด ผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 50 [FEATURE] มาร์เซโล บิเอลซา : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #50
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 49 [FEATURE] วิค บัคกิงแฮม : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #49
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 48 [FEATURE] เคลาดิโอ รานิเอรี : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #48
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 47 [FEATURE] บิล นิโคลสัน : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #47
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 46 [FEATURE] สเวน-โกรัน อีริคส์สัน : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #46
สนับสนุนบทความของแท้ไม่ก็อปปี้ต้อง 90min.com เท่านั้น!*ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความหรือรูปภาพไม่ว่าวิธีใดๆ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมายที่ระบุไว้สูงสุด