[FEATURE] เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #45

Sir Alf Ramsey
Sir Alf Ramsey /
facebooktwitterreddit

เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ เป็นผู้จัดการทีมอันดับที่ 45 ในการจัดอันดับ ผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของเรา ผู้อ่านสามารถติดตาม 11 ผู้เล่นยอดเยี่ยมภายใต้การคุมทีมของ แรมซีย์ ได้ ​​ที่นี่​


ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ยังค้าแข้ง เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ ลงเล่นในระดับสโมสรให้กับเพียงแค่ 2 ทีมเท่านั้นตลอดเส้นทางของเจ้าตัว ขณะที่เส้นทางกุนซือ แรมซีย์ คุมเพียงแค่ 2 ทีมเท่านั้น เขากลายเป็นตำนานจากการพาทีมชาติ อังกฤษ ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ ฟุตบอลโลก อันเป็นที่มาของการเป็นกุนซือที่ได้รับยศขั้นอัศวินเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

ในอีกทางหนึ่ง แม้ แรมซีย์ จะเป็นกุนซือระดับปรมาจารย์แต่บุคลิกส่วนตัวโดย อีเอสพีเอ็น ระบุว่าเขาเป็นคนประเภทเข้าถึงยากและเป็นพวก ‘หมาป่าเดียวดาย’ กระทั่งเจ้าตัวเองก็บอกว่าเขาเป็นคนที่ยากจะทำความรู้จัก

นั่นคือทิศทางในการดำเนินชีวิตของ แรมซีย์ ที่ฟุตบอลไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต เขาพยายามปลีกวิเวกจากฉากลูกหนังที่ทำให้กลายเป็นคนมีชื่อเสียงเมื่อภารกิจสิ้นสุดลง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความพิเศษของตำนานกุนซือรายนี้ลดน้อยลงไปแม้เพียงนิดเดียว

หลังการค้าแข้งในตำแหน่งแบ็คขวาผู้ไว้วางใจได้กับ เซาแธมป์ตัน และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เขาเริ่มต้นเส้นทางกุนซือกับ อิปสวิช ทาวน์ ในปี 1955 กับบทบาทผู้เล่นควบผู้จัดการทีมในลีก ดิวิชัน 3 อันเป็นจุดเริ่มต้นของความเกรียงไกรในเวลาต่อมา

Ipswich Town v Leeds United - Sky Bet Championship
Ipswich Town v Leeds United - Sky Bet Championship / Stephen Pond/Getty Images

เกียรติยศ

แชมป์ดิวิชัน 3 (1956/57)
แชมป์ดิวิชัน 2 (1960/61)
แชมป์ดิวิชัน 1 (1961/62)
แชมป์ฟุตบอลโลก (1996)


ในช่วงการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะผู้จัดการทีม อิปสวิช อดีตเพื่อนร่วมทีมชาติ อังกฤษ ของเจ้าตัวอย่าง บิลลี ไรท์ ได้ออกมายกย่องว่าเขาว่า “การที่ อิปสวิช ว่าจ้างเขาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่นับเป็นการสดุดีต่อนักฟุตบอลที่ชาญฉลาด!”

แม้ว่าแท็คติกของ แรมซีย์ จะมีข้อกังขาอยู่บ้างแต่สิ่งที่โดดเด่นอันดับแรกคือการนำเอาวิธีการเล่นแบบดันขึ้นสูงไล่บีบพื้นที่อันเป็นหนึ่งในต้นตำรับของ โททัลฟุตบอล ซึ่งเจ้าตัวได้รับอิทธิพลมาจากสมัยยังเป็นนักเตะกับ สเปอร์ส ภายใต้การคุมทีมของ อาร์เธอร์ โรว์ มาปรับใช้จนพา อิปสวิช ซิวแชมป์ลีกสูงสุดทันทีหลังจากเลื่อนชั้น

Alf Ramsey
Alf Ramsey / Ron Burton/Getty Images

แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ แรมซีย์ รวมทั้ง 3 ผู้จัดการทีมจากการจัดอันดับผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมที่สุด 6 คนแรกของเรามาเติบโตมาจากการเป็นลูกศิษย์ของ โรว์ ที่ สเปอร์ส อย่าง วิค บัคกิงแฮม และ บิล นิโคลสัน

ความโดดเด่นของ แรมซีย์ อันดับต่อมาเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เขายังคงสวมยูนิฟอร์ม ทรีไลอ้อนส์ ไล่หวดลูกหนังเคียงข้าง บิลลี ไรท์ โดยย้อนกลับไปในปี 1953 ที่ เวมบลีย์ อันเป็นเกมกระชับมิตรระหว่าง อังกฤษ กับ ฮังการี

ทีมชาติ ฮังการี ในเวลาดังกล่าวรั้งตำแหน่งเจ้าของแรงกิ้งอันดับที่ 1 ของโลกกับสถานะแชมป์ โอลิมปิก หมาดๆ รวมทั้งยังครองสถิติไร้พ่าย 24 เกมติดต่อกันก่อหนหน้า พวกเขาสามารถบุกไปถล่มเอาชนะ สิงโตคำราม เละเทะคาบ้าน 6-3 จนทำให้ อังกฤษ ที่คิดว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในเต้ยของ ยุโรป เวลานั้นต้องกลับไปทบทวนรูปแบบการเล่นของตัวเองเป็นการใหญ่ทั้งในระดับสโมสรไปจนถึงนานาชาติ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของพวกเขาในที่สุด โดยเกมดังกล่าวถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘แมตช์แห่งศตวรรษ’

England Victory
England Victory / Central Press/Getty Images

แผนการเล่นของ อังกฤษ 3-2-2-3 (3 กองหลัง, 2 ฮาล์ฟแบ็ค, 2 อินไซด์ฟอร์เวิร์ด และ 3 กองหน้า) ถูกรูปแบบ 2-3-3-2 ของ ฮังการี ไล่ขโยกไม่เป็นท่าในเกมดังกล่าวโดยมีหัวใจสำคัญที่แดนกลางอันประกอบด้วยเพลย์เมคเกอร์ตัวต่ำปั้นเกมกับจอมทัพผู้เคลื่อนที่อย่างอิสระระหว่างไลน์

จากประสบการณ์ที่โชกโชนและจุดเปลี่ยนที่กล่าวไปข้างต้นของ แรมซีย์ ทำให้เขาพาพลพรรค อิปสวิช จนฤดูกาลด้วยอันดับที่ 3 ของศึกดิวิชัน 3 ในซีซันแรกที่รับงาน ตามด้วยการคว้าแชมป์ฤดูกาลถัดมา ตามด้วยการเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดใน 3 ปีให้หลังและคว้าแชมป์ลีกสูงสุดทันทีในปีแรกที่เลื่อนชั้น นับเป็นผู้จัดการทีมรายที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่พาทีมซิวแชมป์ดิวิชัน 2 และดิวิชัน 1 ติดต่อกัน

และทันทีที่ทีมชาติ อังกฤษ เคาะประตูเปิดโอกาสให้เขาไปคุมทัพ ที่เหลือหลังจากนั้นก็กลายเป็นตำนาน

Alf Ramsey
Alf Ramsey / Express/Getty Images

แรมซีย์ จัดการเปลี่ยนแปลงทีมชาติ อังกฤษ ในทันทีหลังจากรับตำแหน่งด้วยการเลือกตัวผู้เล่นด้วยตนเอง นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญเมื่อก่อนหน้านั้นสมาคมฟุตบอลอังกฤษมีคณะกรรมการเลือกสรรผู้เล่นติดทีมทำหน้าที่เหนือผู้จัดการทีมด้วยซ้ำ 

แรมซีย์ ประกาศก้องในปี 1963 ว่าทีมชาติ อังกฤษ ภายใต้การคุมทีมของเขาจะก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์โลกในปี 1966 นับเป็นการแสดงทัศนคติสุดสุดห่ามแต่เขาสามารถทำให้ลูกทีมเชื่อมั่นในตนเองได้จากความเชื่อดังกล่าวถึงขนาดที่ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “อังกฤษ เป็นตัวเต็งสำหรับ เวิลด์คัพ 1966 ซึ่งทัศนคติของ อัลฟ์ แรมซีย์ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย”

ความกล้าได้กล้าเสียของ แรมซีย์ ยังคงแสดงให้เห็นอีกครั้งในทัวร์นาเมนต์ ฟุตบอลโลก 1966 ในแมตช์สุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มที่พวกเขาเอาชนะ ฝรั่งเศส 2-0 การเข้าสกัดหนักของ น็อบบี้ สไตลส์ ใส่ผู้เล่น ตราไก่ ในเกมดังกล่าวทำให้ ฟีฟ่า จ้องที่จะแบนลูกทีมของ แรมซีย์ โดยกุนซือ สิงโตคำราม ที่ปกป้องลูกทีมชนิดหัวเด็ดตีนขาดกับ เอฟเอ ไปถึง ฟีฟ่า ว่าหาก สไตลส์ ถูกแบน ตัวเขาจะลาออกจากตำแหน่งนายใหญ่ทันที 

World Cup Win
World Cup Win / Keystone/Getty Images

ในเกมเดียวกันนั้น แรมซีย์ ยังต้องเสีย จิมมี กรีฟส์ ที่มีสถานะเป็นดาวยิงตัวความหวังจากอาการบาดเจ็บ นายใหญ่ ทรีไลอ้อนส์ ส่ง เจฟฟ์ เฮิร์สท์ ที่เพิ่งจะติดทีมชาติ อังกฤษ ในปี 1966 เป็นปีแรกลงสนามแทนที่และไว้วางใจให้ เฮิร์สท์ ลงเล่นต่อเนื่องไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศแม้ กรีฟส์ จะหายเจ็บกลับมาแล้วก็ตาม

เมื่อเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ เฮิร์สท์ ตอบแทนความไว้วางใจด้วยการซัดประตูชัยเขี่ย อาร์เจนตินา ตกรอบ ก่อนที่ในนัดชิงชนะเลิศเขาจะกลายเป็นนักเตะคนแรกและคนเดียวที่สามารถทำแฮตทริคได้สำเร็จ พาทีมเอาชนะ เยอรมนีตะวันตก 4-2 หลังช่วงต่อเวลาพิเศษ


เส้นทางการคุมทีม

อิปสวิช ทาวน์ (1955-63)
อังกฤษ (1963-74)
เบอร์มิงแฮม ซิตี้ (1977-78)


บทความชุด ผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

ผู้จัดการทีมอันดับที่ 50 [FEATURE] มาร์เซโล บิเอลซา : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #50
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 49 [FEATURE] วิค บัคกิงแฮม : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #49
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 48 [FEATURE] เคลาดิโอ รานิเอรี : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #48
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 47 [FEATURE] บิล นิโคลสัน : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #47
ผู้จัดการทีมอันดับที่ 46 [FEATURE] สเวน-โกรัน อีริคส์สัน : ผู้จัดการทีมฟุตบอลยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล #46


สนับสนุนบทความของแท้ไม่ก็อปปี้ต้อง 90min.com เท่านั้น!*ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความหรือรูปภาพไม่ว่าวิธีใดๆ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมายที่ระบุไว้สูงสุด