บทเรียนจากการ Call Out ของ แรชฟอร์ด ที่ช่วยเหลือเด็กได้ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่คนไม่กี่ร้อย - FEATURE

Marcus Rashford Mural In Manchester
Marcus Rashford Mural In Manchester / Nathan Stirk/GettyImages
facebooktwitterreddit

จนถึงตอนนี้คงไม่มีไม่รู้เกี่ยวกับคุณงามความดีของ มาร์คัส แรชฟอร์ด ดาวเตะหนุ่มของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับงานการกุศลของเขาที่ช่วยเหลือเด็กได้ทั้งประเทศจนทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE ไปจนถึงการเข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย แมนเชสเตอร์ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

สิ่งที่ทำให้แข้งวัย 24 ปี ได้รับคำชื่นชมมากที่สุดไม่ใช่การที่เขาสามารถชักชวนองค์กรใหญ่ๆของประเทศให้มาร่วมลงขันในการช่วยเหลือผู้ยากไร้กับเขาได้หรือกระทั่งการลงมือลงแรงด้วยตัวเองในการเดินสายแจกอาหารให้ผู้คนในเมือง

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดและน่ายกย่องที่สุดคือการที่เขากล้ายืนหยัดพูดกับรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันไม่ถูกต้อง

และการที่ แรชฟอร์ด กล้าใช้ชื่อเสียงของตัวเองในการเป็นกระบอกเสียงแก่คนหมู่มากก็เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย เพราะการแสดงออกที่ขัดกับนโยบายของรัฐ มันมักจะตามมาด้วยเสียงทัดทานอยู่เสมอ

จริงอยู่ที่ปัจจุบัน แรชฟอร์ด รับค่าแรงจากต้นสังกัดสูง 200,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ บวกกับการรับเงินจากสปอนเซอร์อีกนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นด้วยทรัพย์สินที่เขามีคงเพียงพอที่จะช่วยเหลือเยาวชนได้อย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว

และใช่...เขาเคยทำเช่นนั้น ในปลายปี 2019 แรชฟอร์ด เคยทำกิจกรรมการกุศลแจกจ่ายอาหารแก่คนไร้บ้านกว่า 1,200 กล่องในบริเวณเมือง แมนเชสเตอร์

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกพึงพอใจมากเท่าใดนัก อันที่จริงเจ้าตัวยังถึงกับให้คำมั่นว่าจะหาทางออกที่ยั่งยืนกว่านี้เพื่อช่วยเหลือคนในช่วงที่ โควิด ระบาดอย่างทั่วถึง

ในระหว่างที่ แรชฟอร์ด ร่วมมือกับองค์กรการกุศลต่างๆเพื่อช่วยเหลือคน เขาก็ยิ่งได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ดังนั้นเมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะระงับโครงการอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียนเพราะเพิ่งจะสั่งปิดโรงเรียนไปเนื่องจากการแพร่ระบาดที่หนักขึ้นของ โควิด - แรชฟอร์ด จึงตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่าง

เขาใช้พื้นที่ส่วนตัวบนทวิตเตอร์ร่างจดหมายเปิดผนึกแก่ บอริส จอห์นสัน ในเดือนมิถุนายน 2020 เพื่อหวังที่จะให้รัฐกลับลำโดยติด #MaketheUTurn

ข้ความของ แรชฟอร์ด สร้างอิมแพคท์อย่างมากต่อคนทั้งประเทศและอันที่จริงหากจะบอกว่าทั้งโลกก็คงจะไม่ผิดอะไร เพราะในไม่กี่วันต่อมา รัฐตัดสินใจยกเลิกแผนการดังกล่าวแผนยังเพิ่มงบช่วยเหลืออีก 400 ล้านปอนด์อีกต่างหาก

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นได้มันคงไม่ใช่เพราะเขาคนเดียว แต่หาก แรชฟอร์ด ไม่เริ่มต้นลุกขึ้นยืนเพื่อชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่โดยใช้ชื่อเสียงของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ก็ไม่รู้ว่าใครจะเริ่มหรือท้ายที่สุดแล้วเด็กๆหรือผู้ยากไร้เหล่านั้นจะต้องทนทุกข์ไปอีกนานเพียงใด