[OPINION] "สไตล์หรือความสำเร็จ" อะไรคือสิ่งที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการ
โดย ชยพล ธานีวัฒน์
หลังการตกรอบ ยูฟา แชมเปี้ยนส์ลีก ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสียงก่นด่าและคำถามต่าง ๆ ก็ตามมาไม่ขาดสาย ซึ่งแน่นอนว่าทัวร์ทั้งหมดพากันไปลงที่ โอเล กุนนาร์ โซลชา ผู้เป็นกุนซือแต่เพียงผู้เดียว
จริง ๆ แล้วทีม ปีศาจแดง ไม่ได้กดดันอะไรมากเท่ากับ อาร์เบ ไลป์ซิก เพราะพวกเขาขอแค่ผลเสมอก็จะลอยลำเข้ารอบแบบแบเบอร์ แต่ด้วยความคิดมากของคนเป็นผู้จัดการทีมผลการแข่งขันจึงออกมาแบบนี้
โซลชา โดนวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการจัดตัวผู้เล่น ทั้ง ๆ ที่ในเกม พรีเมียร์ลีก 3 นัดหลังสุดพวกเขาสามารถเก็บ 9 คะแนนเต็มจากการเล่นในระบบกองหลัง 4 คน แต่เมื่อคืนวันอังคารกลับส่งแนวรับลงถึง 5 รายโดยใช้ระบบวิงแบ็คเข้ามาช่วยในการทำเกม
ผลที่ออกมาคือทีมเล่นไม่เป็นทรงเพราะมีนักเตะในเกมรุกน้อยเกินไป เหมือนว่าพวกเขาต้องการแค่ผลเสมอ ซึ่งการเล่นแบบนี้ถามโค้ชทั่วโลกก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันยากยิ่งกว่าเล่นเพื่อชัยชนะเสียอีก
เมื่อกลายเป็นความเสียหายระดับหลายสิบล้านปอนด์ เสียงเรียกร้องเรื่องการปลดกุนซือจึงดังขึ้นอีกครั้งตามธรรมเนียม
เรื่องผู้จัดการทีมคนใหม่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด เชื่อว่าเด็กผีหลายคนคงเบื่อเต็มทน เพราะเดี๋ยวอีกไม่กี่นัด โซลชา ก็กลับมาทำผลงานได้ดี ประเด็นนี้ก็จะหายไป ก่อนที่จะกลับมาพูดถึงกันอีกครั้งเมื่อทีมทำผลงานได้ห่วยแตกอีกครั้ง
บางคนเรียกมันว่า "ลูปนรก" ซึ่งมีความหมายถึงความไม่คงเส้นคงวาของแข้ง ปีศาจแดง
อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงตัวเต็งนายใหญ่คนใหม่ในถิ่น โอลด์ แทรฟฟอร์ด ชื่อของ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน และ มัสซิมิลิอาโน อัลเลกรี คือ 2 แคนดิเดตที่ตีคู่กันมาตลอดนับตั้งแต่ช่วงเปิดฤดูกาล ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ชอบไปทางอดีตกุนซือ ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ เพราะทรงบอลดูตื่นเต้นเร้าใจเข้ากับความต้องการของแฟนบอลมากกว่าความน่าเบื่อแบบ คาเตนัคโช ของ อัลเลกรี
ซึ่งสไตล์การเล่นแบบตื่นเต้นเร้าใจที่ว่านี่แหละที่ โซลชา เองก็พยายามที่จะสร้างให้กับทีมของเขา เพียงแต่ตอนนี้มันไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่นัก
เหตุที่เด็กผีส่วนใหญ่ชอบ โปเช็ตติโน นั่นเป็นเพราะพวกเขายังยึดติดกับฟุตบอลเดินหน้าแล้วฆ่ามัน ซึ่งสิ่งนี้ถูกปลูกฝังมาตลอด 26 ปีในยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน พร้อมด้วยความสำเร็จล้นตู้โชว์ทั้งแชมป์ พรีเมียร์ลีก 13 สมัย, ยูฟา แชมเปี้ยนส์ลีก อีก 2 สมัย รวมทั้งแชมป์บอลถ้วยอื่น ๆ อีกมากมาย
จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อหมดยุคของป๋าเฟอร์กี้แฟนบอลก็ยังคงโหยหาสไตล์การเล่นแบบนี้ ซึ่งหารู้ไม่ว่ามันกลายเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงสโมสรอย่างไม่รู้ตัว
ขนาด 2 กุนซือดังระดับโลกยังโดนเล่นงานมาแล้วทั้ง หลุยส์ ฟาน กัล และ โชเซ มูรินโญ ซึ่งทั้งคู่ใช่ว่าจะไม่มีถ้วยติดไม้ติดมือ หากแต่ระบบและรูปแบบการเล่นมันไม่ถูกใจสาวกอสูรแดงซักเท่าไหร่ จึงทำให้อายุการทำงานของแต่ละคนอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี
แฟนบอลจึงมองว่าฟุตบอลในแบบของ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน จึงน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่สาวกอสูรแดงตามหามานาน เพราะพวกเขาเห็นได้ดอกผลมาแล้วที่ ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์
พอช เข้ามาคุม สเปอร์ส์ เมื่อปี 2014 พร้อมด้วยการเล่นเกมรุกอันเร้าใจ เขาสร้างทีมที่เดินหน้าลุยเพื่อเอาประตูตลอด 90 นาที ปั้น แฮร์รี เคน และ ซน เฮือง-มิน ให้โลกได้รู้จักและใช้เวลาแค่ 2 ซีซันก็พาทีมเข้าไปเล่นใน ยูฟา แชมเปี้ยนส์ลีก ได้สำเร็จ ก่อนจะยกระดับตัวเองให้กลายเป็น “ท็อปโฟร์” ได้ติดต่อกัน 4 ฤดูกาลและคว้ารองแชมป์ได้ 1 ครั้ง รวมทั้งการเป็นรองแชมป์ ลีกคัพ อีก 1 สมัย ซึ่งทำให้เจ้าตัวกลายเป็นหนึ่งในกุนซือรุ่นใหม่ที่ได้รับการจับตามองโดยทันที
อย่างไรก็ตามสิ่งที่นายใหญ่อาร์เจนไตน์สร้างเอาไว้ที่นอร์ธลอนดอนนั้น เมื่อเทียบกับความคาดหวังมหาศาลที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
พูดกันง่าย ๆ ว่าเขายังไม่ประสบความสำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในการเป็นกุนซือ
หันมาดูอีกหนึ่งแคนดิเดตที่หลายคนร้องยี้อย่าง มัสซิมิลิอาโน อัลเลกรี ความโชกโชนใน กัลโช เซเรีย อา นั้นไม่ต้องพูดกันเยอะ เขาคือกุนซือคนสุดท้ายที่ทำ เอซี มิลาน ได้แชมป์ลีกเมื่อปี 2011 จากนั้นนำ ยูเวนตุส คั่วแชมป์ กัลโช ติดต่อกัน 5 สมัย แชมป์ โคปาอิตาเลีย 4 สมัย รวมทั้งพาทีมเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟา แชมเปี้ยนส์ลีก มาแล้ว 2 สมัย
ฟุตบอลสไตล์ อัลเลกรี คือบอลเน้นแท็คติกและผลการแข่งขันเป็นหลัก ไม่เน้นความสวยงามและการต่อบอลมากมายหลายจังหวะ แต่ใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดของคู่แข่งและรู้จักปิดเกมเพื่อผลลัพธ์ หรือพูดง่าย ๆ ว่านายใหญ่อิตาเลียนรายนี้เป็นประเภท “เขี้ยวลากดิน”
แม้หลายคนจะมองว่าฟุตบอลอิตาลีตอนนี้ไม่ได้น่าเกรงขามเหมือนในช่วงยุค 90 แล้วก็ตาม แต่ต้องยอมรับกันว่าฝีไม้ลายมือของกุนซือหลายคนที่มาจากแดนมักกะโรนีนั้นยังคงได้รับการยอมรับอยู่เสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหันมาดูแนวทางในการบริหารงานของบอร์ดบริหารทีม ปีศาจแดง ในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาก็มี “ลูปนรก” ของตัวเองเช่นกัน กล่าวคือ ในปีแรกยอมทุ่มซื้อนักเตะใหม่หลังจากที่เมื่อตั้งกุนซือคนใหม่ หลังจากนั้นปีต่อมาก็ทำให้เรื่องช้อปปิ้งเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ก่อนที่จะจัดการปลดผู้จัดการทีมหลังผลงานตกต่ำในช่วงปลายฤดูกาล จากนั้นก็ตั้งคนใหม่เข้ามาและบอร์ดก็จัดการทุ่มเงินซื้อนักเตะใหม่ให้วนไปแบบนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วข้อจำกัดแบบนี้ก็เหมาะกับทั้ง โปเช็ตติโน และ อัลเลกรี เพียงแต่รายหลังมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมมากกว่า
ดังนั้นถ้าบอร์ดบริหารกำลังคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้จัดการทีม สิ่งแรกที่จะต้องตัดสินใจก็คือ พวกเขาต้องการอะไรมากกว่ากันระหว่างสไตล์การเล่นอันดุดันเร้าใจกับความสำเร็จที่จับต้องได้ เพราะอย่าลืมว่าในโลกฟุตบอลยุคปัจจุบันที่มีเจ้าเชื้อโคโรนาปะปนอยู่ด้วยนั้น ยิ่งใช้เวลาหมดไปกับการสร้างทีมมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับเป็นการเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินหลายสิบล้านปอนด์มากเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไอ้ที่ลงทุนไปมันจะให้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่าหรือไม่
ในทางกลับกันหากเน้นไปที่ความสำเร็จ ถึงแม้ว่าฟอร์มการเล่นหรือสไตล์การทำทีมอาจจะไม่ถูกใจแฟนบอล แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือเม็ดเงินมหาศาลที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับทีมได้อีกหลายปี
หรือหาก โซลชา ยังไม่อยากโดนไล่ออกในตอนนี้ก็ลองเปลี่ยนแนวทางการทำทีมที่อาจจะไม่เร้าใจแต่เน้นผลการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะโดนวิจารณ์ในช่วงแรก แต่ถ้ามีถ้วยติดไม้ติดมือขึ้นมา เสียงเหล่านั้นก็คงจะเงียบหายกันไปเอง
สนับสนุนบทความของแท้ไม่ก็อปปี้ต้อง 90min.com เท่านั้น! *ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความหรือรูปภาพไม่ว่าวิธีใดๆ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมายที่ระบุไว้สูงสุด