รำลึกถึง โรเบิร์ต เอ็งเค่ โศกนาฏกรรมแห่งการลาจากในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก

Germany's goalkeeper Robert Enke gesture
Germany's goalkeeper Robert Enke gesture / OLIVER LANG/Getty Images
facebooktwitterreddit

วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่โลกให้ความสำคัญในฐานะ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่สังคมมีปัญหาในการพูดถึง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่มีแง่มุมของการเป็นเรื่องต้องห้าม

แต่มันยังคงเป็นประเด็นที่เราตระหนักถึง แม้กระทั่งผ่านสายตาของคนฟุตบอล

ครั้งสุดท้ายที่พวกเราในฐานะแฟนบอลเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2009 วันที่มีข่าวน่าเศร้าเมื่อชื่อของ โรเบิร์ต เอ็งเค่ นายทวารทีมชาติ เยอรมนี มีชื่ออยู่บนพาดหัวข่าว เป็นข่าวที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจและกระทบต่อความรู้สึกของเหล่าแฟนบอลเมื่อเราแทบจะไม่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพจิตในนักฟุตบอลอยู่ในการรับรู้นัก จากฉากหน้าที่ราวกับว่าพวกเขาใช้ชีวิตที่สามารถทำตามความฝันในวัยเยาว์ได้สำเร็จ

พวกเราทุกคนคิดว่าฮีโร่ลูกหนังไม่มีวันที่จะแตกหัก และหากมันเกิดขึ้นพวกเขาจะสามารถลุกขึ้นสู้ต่อได้ทันควัน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทุกๆ สุดสัปดาห์อย่างที่เราในฐานะแฟนบอลเฝ้ามองจากบนอัฒจันทร์หรือบนโซฟาในห้องนั่งเล่นของเรา

แน่นอนว่าฟุตบอลถูกขับเคลื่อนโดยความกระหาย แต่เราต้องตระหนักเสมอว่าในแก่นของฟุตบอลแล้ว มันเป็นเพียงแค่เกมเท่านั้น

แม้ว่าบางคนจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตจากมันได้ แต่ฟุตบอลยังคงเป็นเพียงสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในโลกเป็นลำดับที่ 2 เท่านั้น

สำหรับแฟนบอลเรือนหมื่นที่เข้าชมในสนาม ติดตามดูการแข่งขันตามผับ ร้านอาหาร ฯลฯ มันยังคงเป็นเพียงแค่เกม การให้ความหมายที่บิดเบือนไปสู่ประเด็นความเป็นและความตาย กระทั่งสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น (ตามคำกล่าวของ บิลล์ แชงค์ลีย์) อาจทำให้เกิดแรงกระตุ้นระยะสั้นที่ไม่คาดฝัน สร้างประเด็นปลุกใจอย่างกว้างขวาง แต่มันเป็นวิธีคิดที่ไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด

การเน้นย้ำการเร้าอารมณ์ของเกมฟุตบอลสามารถนำไปสู่ความตึงเครียดเกินจำเป็นที่กลายเป็นความกดดันจนไม่สามารถแบกรับไหว ซึ่งมันจะมีผลกระทบที่ตามมาอย่างการสร้างความกลัวต่อความผิดหวังให้กับตัวนักฟุตบอลเอง

สำหรับผู้เล่นบางราย มันอาจนำไปสู่ภาวะนอนไม่หลับ บางรายนำไปสู่การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทั่งบางรายอาจตัดสินใจหาดับซึ่งทุกอย่าง

สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นประสบเหมือนกันคือความรู้สึกละอายที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ความรู้สึกที่ถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยว และความกลัวต่อการถูกตีตราว่าเป็นผู้มีจิตใจอ่อนแอจากมวลชนและสื่อหากประเด็นดังกล่าวได้รับการเปิดเผย

ความเป็นไปของโลกปัจจุบันมันเกี่ยวเนื่องกับทัศนคติที่ต้องไปให้ไกลกว่าเดิม สูงกว่าเดิม เร็วขึ้นกว่าเดิม ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น เราแสดงความชื่นชมชัยชนะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพียงเพื่อจะซ้ำเติมเมื่อมันถึงเวลาสิ้นสุด วีรบุรุษของวันวานกลายเป็นผู้ปราชัยในวันนี้ภายในชั่วระยะเวลาเพียง 90 นาที ตามด้วยการถูกค่อนขอดถึงความล้มเหลวดังกล่าว

ในบางครั้ง ความแตกต่างเพียงเสี้ยวเล็บสามารถตัดสินผลแพ้ชนะในเกมฟุตบอลได้ แต่ถึงอย่างนั้นเรายังคงเพียรหาแพะรับบาปจากคนในสนามสำหรับผลการแข่งขันที่น่าผิดหวัง

เราตระหนักถึงมันเป็นอย่างดี แต่ไร้ความจริงจังที่จะเปลี่ยนแปลง ในห้วงเวลาของสถานการณ์เข้าด้ายเข้าเข็ม เรามักตราหน้าหานักฟุตบอลบางรายเพื่อก่นด่าโดยไม่ได้ตระหนักผลกระทบทางจิตใจที่พวกเขารับรู้ผ่านความคิดเห็นบน เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม

หากเราหวังที่จะขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง เราต้องตระหนักถึงผลพวงจากการกระทำของพวกเรา เราต้องหาหนทางตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่น กับนักฟุตบอลพวกเขาอาจต้องต่อสู้กับสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจโดยที่เราอาจละเลย

หนทางแรกเพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตระหนักว่าพวกเราทุกคน แม้กระทั่งนักฟุตบอลก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา


สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้เริ่มแคมเปญ #ReachOut เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงสภาวะทางจิตใจ กระตุ้นให้ผู้คนกล้าที่จะเข้ารับขอคำปรึกษาเมื่อต้องการและเริ่มกระบวนการเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนของนักฟุตบอลทั้งในอดีตและปัจจุบัน ฟีฟ่า ได้เน้นย้ำความสำคัญของการตระหนักรู้ในประเด็นสุขภาพทางจิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม