สิ่งใหม่ใน “พรีเมียร์ ลีก” 2022-2023 - FEATURE

Nottingham Forest v Stellenbosch FC - Next Gen Cup 2022
Nottingham Forest v Stellenbosch FC - Next Gen Cup 2022 / Ashley Allen/GettyImages
facebooktwitterreddit

พรีเมียร์ ลีก เกมแรกจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว ฤดูกาลใหม่ที่ห่างจากฤดูกาล 2021-2022 เพียง 74 วันเท่านั้น เมื่อทุกอย่างต้องเร่งรัดเข้าเพราะปีนี้ ฟุตบอลโลก 2022 จัดขึ้นในช่วงกลางฤดูกาล (พฤศจิกายน - ธันวาคม 2022)

ประมาณ 2 เดือนครึ่งหลังจบฤดูกาลที่แล้ว ฤดูกาลใหม่กำลังจะมาถึง ทุกอย่างอาจจะไม่ต่างจากเดิมมากนัก ยกเว้นเรื่องของการซื้อขาย แต่ในเรื่องของรายละเอียดแล้ว ต้องบอกว่าหลายสิ่งอย่างในพรีเมียร์ ลีก มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้ว และนี่คือหลายเรื่องราวที่จะเปลี่ยนไป


การเปลี่ยนตัวได้ 5 คนกลับมาอีกครั้ง

การเปลี่ยนตัวผู้เล่น 5 คนต่อเกมไม่ใช่เรืองใหม่อะไร เพราะในช่วงที่มีการกลับมาแข่งขันกันในช่วงหลังโควิด-19 ระบาดหนัก ๆ หรือที่เรียกว่าโปรเจคต์ “Restart” ก็มีการอนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ถึง 5 คนต่อเกม จากปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่ในปีต่อมาจะมีการโหวตให้กลับไปเปลี่ยนผู้เล่นได้เพียง 3 คนในแบบดั้งเดิม โดยในการเปลี่ยนแปลงผู้เล่น 5 คน จะต้องทำให้จบภายใน 3 ครั้ง นับรวมถึงช่วงเปลี่ยนตัวระหว่างพักครึ่งเวลาด้วย ขณะที่การส่งรายชื่อผู้เล่นสำรองนั้นสามารถใส่ชื่อได้ทั้งหมด 9 คน เพิ่มจากเดิมที่ใส่ได้เพียง 7 คน

การเปลี่ยนตัวที่มากขึ้นต่อเกม จะส่งผลอย่างมากในเรื่องของแท็คติกการแก้ไขเกม และทำให้ทีมสามารถมองหาทางเลือกได้มากขึ้น เช่นเดียวกับนักเตะข้างสนามก็มีโอกาสจะได้รับโอกาสลงเล่นมากกว่าเดิมเช่นกัน


การบอกลาของ ไมค์ ดีน และเหล่ากรรมการที่แฟนบอลคุ้นเคย

ไมค์ ดีน เป็นหนึ่งในกรรมการระดับตำนาน ตำแหลกของวงการฟุตบอลอังกฤษ หมดวาระการทำงานของตนเองเรียบร้อยเช่นเดียวกับ โจนาธาน มอสส์ และ มาร์ติน แอตกินสัน ซึ่งต้องบอกว่าทุกชื่อคุ้นหูแฟนบอลเป็นอย่างดี และปีนี้เราจะได้รู้จักกับกรรมการคนใหม่ที่ชื่อว่า ทอม บรามอลล์ ที่เคยตัดสินใจในระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิพมาก่อน รวมถึง นาตาลี แอสปินัล, นิค กรีนฮัล และสตีฟ เมเรดิธ พวกเขาจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ตัดสินในเวทรีพรีเมียร์ ลีก ปีนี้ สำหรับกรรมการเกษียณการทำหน้าที่ตัดสินก็จะยังคงทำงานอยู่ในองค์กรผู้ตัดสินกันต่อไป


กฎเรื่องของการยิงจุดโทษ

การยิงจุดโทษเป็นหนึ่งในกฎยิบย่อยที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง และในปีนี้พรีเมียร์ ลีกมีการออกกฎมาให้กรรมการต้องกำกับดูแลให้ชัดเจนในส่วนของนายทวารว่าทุกครั้งที่มีการเซฟจุดโทษ เมื่อมีการยิงจุดโทษเกิดขึ้น เท้าของนายทวารส่วนใดส่วนหนึ่งต้องอยู่บนเส้นประตู, หรือแนวเดียวกับเส้นประตู หรือหลังเส้นประตูเท่านั้น “ห้ามยืนหน้าเส้นประตู” หากผิดไปจากนี้แล้วยิงเข้าประตูไป ถือเป็นผลประโยชน์ให้กับทีมฝ่ายรุก แต่ถ้าเซฟได้จะต้องมีการยิงจุดโทษใหม่


FBL-ENG-PR-ARSENAL-EVERTON
FBL-ENG-PR-ARSENAL-EVERTON / DANIEL LEAL/GettyImages

VAR ยังคงมีบทบาทสำคัญ

เข้าสู่ฤดูกาลที่สามแล้วสำหรับ Video Assistant Referees หรือ VAR ยังคงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในการช่วยการตัดสินของกรรมการ ทุกประตูที่เกิดขึ้นต้องมีการเช็คด้วยเทคโนโลยีนี้ก่อนตัดสินว่าให้ประตูหรือไม่ เช่นเดียวกับการตัดสินว่าเป็นจุดโทษหรือไม่ รวมถึงเรื่องของเหตุการณ์ที่น่ากังขาในสนามก็จะโดนตรวจเช็คทั้งหมด ยกเว้นการให้ใบเหลืองใบที่สอง ซึ่งจะไม่มีการเช็คจาก VAR


การคุกเข่า… ยังคงมีอยู่แต่ไม่ทุกเกม

การคุกเข่าเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องของการรณรงค์การเหยียดในทุกรูปแบบเกิดขึ้นมาตลอดในช่วงสองปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในฤดูกาลใหม่นี้ หลังการกัปตันทีมของทุกสโมสรได้มีการเรียกประขุมกันภายในแต่ละทีม รวมถึงพูดคุยกันในกลุ่มของกัปตันทีมแล้วจะยังคงมีการคุกเข่าก่อนเกมต่อไป แต่จะเป็นเพียงเกมแรกของฤดูกาล, เกมสุดท้ายของฤดูกาล, เกมช่วงเดือนตุลาคม และมีนาคม และวันบ๊อกซิ่งเดย์ รวมถึงเกมรอบชิงชนะเลิศทั้งเอฟเอ คัพ และคาราบาว คัพ เท่านั้น


ระบบ Multi-Ball

เพื่อลดการเสียเวลาในการที่เตะบอลออกข้างสนาม หรือหลังประตูแล้วได้บอลกลับมาช้า พรีเมียร์ ลีก จะมีการให้มีลูกบอลประจำเกมการแข่งขันทั้งหมด 10 ลูกต่อเกม ประกอบไปด้วย 1 ลูกอยู่มือของกรรมการซึ่งจะใช้เริ่มต้นการแข่งขัน อีก 1 ลูกอยู่กับกรรมการที่สี่ซึ่งอยู่ข้างสนาม และที่เหลืออีก 8 ลูก จะวางอยู่รอบสนาม เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดในเรื่องของการถ่วงเวลาของฝ่ายที่ได้เปรียบ และกรรมการจะสามารถตัดสินให้ใบเหลืองกับผู้เล่นได้ หากประเมินว่าการกระทำของผู้เล่นเป็นการถ่วงเวลา


การเบรกในช่วงคริสต์มาส

ด้วยการที่ฤดูกาลนี้มี ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจัดขึ้นในช่วงปลายปี ทำให้พรีเมียร์ ลีก จะมีการเบรกพักประมาณ 1 เดือนเพื่อหลีกทางให้ อย่างไรก็ตามทุกสโมสรจะกลับมาลงเล่นในช่วงวันบ๊อกซิ่งเดย์ (26 ธันวาคม 2022) และทุกทีมจะต้องได้พักมากกว่า 48 ชั่วโมงจึงจะลงเล่นในเกมต่อไปได้ โดยที่ในระหว่างพักเบรกฟุตบอลโลก สโมสรสามารถที่จะจัดเกมอุ่นเครื่องได้ตามต้องการ หรือสโมสรจะสามารถเดินทางไปเก็บตัวยังต่างประเทศก็ได้เช่นเดียวกัน


Jack Butland
Everton v Crystal Palace - Premier League / Michael Regan/GettyImages

พลุควัน เป็นสิ่งต้องห้าม การวิ่งลงสนามคือความผิด

ในช่วงฤดูกาลที่แล้วเริ่มมีแฟนบอลหลายสนามนำพลุควันสีต่าง ๆ เข้ามาจุดในสนาม และมีการขว้างปาลงมาในสนาม ซึ่งสร้างความอันตรายให้กับผู้เล่นโดยตรง พรีเมียร์ ลีก จึงออกกฎชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ห้ามนำเข้าสนาม และจะมีการตรวจค้นก่อนเข้าสนามทั้งจากบุคลากรในสโมสร และสุนัขดมกลิ่น หากตรวจพบแฟนบอลจะถูกแบนห้ามเข้าสนามทันที เช่นเดียวกับเรื่องของการที่แฟนบอลวิ่งลงไปในสนามจะถูกลงโทษหนักจากทุกสโมสรเช่นกัน