เมสัน เมาท์ มาทำไม ? และจะลงตรงไหน ? ในทีม แมนยู ของ เอริค เทน ฮาก - OPINION

• 55+5 ล้านปอนด์ เป็นนักเตะใหม่รายแรกสุดของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซัมเมอร์นี้
• มาพร้อมดีกรีและผลงานดีมากมายทั้งตอนอยู่ เชลซี, ดาร์บี้ และ วิเทสส์ อาร์เนม
• นี่คือดีลที่ เอริค เทน ฮาก จิ้มเลือกมาด้วยตัวเอง เพราะเห็น "อะไรบางอย่าง" ที่มีในตัว เมสัน เมาท์
FBL-EUR-C1-CHELSEA-TRAINING
FBL-EUR-C1-CHELSEA-TRAINING / GLYN KIRK/GettyImages
facebooktwitterreddit

เป็นอันยืนยันจากทุกฝ่าย ถึงการที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถปิดดีลคว้าตัว เมสัน เมาท์ มาจาก เชลซี ได้เป็นที่เรียบร้อย โดยไม่ปล่อยให้การเจรจายืดเยื้อไปจนล่วงเข้าช่วงท้ายตลาด

เพียงแต่การมาของสมาชิกใหม่ในแดนกลาง ก็ทำให้เกิดคำถามเหมือนกันว่า เอริค เทน ฮาก จะใช้งานมิดฟิลด์วัย 24 ลงที่ตรงไหน เมื่อแผงกลางของพวกเขาดูเข้าทีดีอยู่แล้ว ก็คงประเมินได้ราวๆ 3 ทาง ประมาณนี้...

คนที่ เทน ฮาก เลือกมาเอง

เพราะเป็น "คำถาม" ที่ดังขึ้นตั้งแต่รายงานข่าวชิ้นแรกๆ ว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนใจในตัว เมสัน เมาท์ กองกลางทีมชาติอังกฤษซึ่งจะหมดสัญญากับ เชลซี ในปีหน้า -- และอันที่จริงถูกเชื่อมโยงกับ ลิเวอร์พูล มาก่อน

คำตอบมีอยู่ในข่าวชิ้นเดียวกันนั้น ซึ่งคือการที่บอกว่า เอริค เทน ฮาก นี่แหละคือคนที่เลือกทางเลือกนี้ด้วยตัวเอง

เพราะอันที่จริง ตัวเลือกแดนกลางของทีมผีแดง ก็ออกจะมีอยู่ไม่น้อย รวมถึงดูลงตัวดีอยู่แล้ว (ถ้าทุกคนฟิตพร้อม) กับคู่พาร์ทเนอร์ กาเซมิโร่ & คริสเตียน เอริคเซ่น โดยที่มีกัปตันทีม บรูโน่ แฟร์นันเดส เป็นอีกหนึ่งหมากสำคัญไม่ว่าจะขึ้นบนหรือลงล่าง (บวกด้วย เฟร็ด, สกอตต์ แม็คโทมิเนย์, ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค, ฮันนิบาล เมจ์บรี้ ส่วน มาร์เซล ซาบิตเซอร์ ตัดไปก่อน คงไม่ซื้อขาด)

หรือหากจะมองไปยังริมเส้น แมนยู ก็มี "ปีกธรรมชาติ" อยู่แล้วเหมือนกันทั้ง อันโตนี่, เจดอน ซานโช่, อเลฮานโดร การ์นาโช่ หรือ อาหมัด ดิยัลโล่ หรือ ฟาคุนโด้ เปยิสตรี้ ไม่นับรวมกองหน้ากึ่งปีกอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด หรือ อองโตนี่ มาร์กซิยาล (หรือ เมสัน กรีนวู้ด...นับมั้ย?)

แต่ เดลี่ เมล : เอริค เทน ฮาก เป็นคนที่ผลักดันดีลคว้า เมสัน เมาท์ ไม่ใช่การจิ้มเลือกของทางสโมสร

หนึ่งในเหตุผลคือการที่ เทน ฮาก มองเห็นแววในตัว เมาท์ มาตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ในงานที่ อูเทร็คท์ และเริ่มต้นคุม อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม กลางซีซั่น 2017/18 โดยที่มิดฟิลด์ดาวรุ่งชาวอังกฤษย้ายจาก เชลซี ไปเล่นกับ วิเทสส์ อาร์เนม แบบยืมตัว

14 ประตู 10 แอสซิสต์ จากการลงสนาม 39 นัด คือผลงานของเจ้าหนู เมาท์ ผู้เป็นเจ้าของรางวัลนักเตะแห่งปี วิเทสส์ ซีซั่นนั้น--ด้วยวัยเพียง 18 ขวบ!

มากกว่าการพังประตูคือการที่ เมาท์ เล่นด้วยฟอร์มที่ดีอย่างต่อเนื่อง สร้างผลงานได้สม่ำเสมอแม้จะถูกโค้ชวางลงสนามในหลากหลายตำแหน่ง ทั้งมิดฟิลด์ตัวกลาง, กลางรุก, มิดฟิลด์ฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา

ความร้อนแรงของ เมาท์ ยังต่อมาถึงช่วงยืมตัวกับ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ 2018/19 ที่ยิง 11 ประตู 6 แอสซิสต์ให้กับทีมแกะเขาเหล็กของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด หรือก็เช่นเดียวกันกับตอนที่ได้โอกาสจาก เชลซี (ก็ แลมพาร์ด นั่นแหละ) ให้แทรกเข้าสู่ทีมตัวจริง เริ่มต้นตั้งแต่ 2019/20 เป็นต้นมา

สี่ปีกับทีมตราสิงห์ผ่านไปด้วย 195 นัด 33 ประตู 37 แอสซิสต์

แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ, สโมสรโลก อย่างละ 1 สมัย

และรางวัลนักเตะแห่งปี เชลซี 2 รอบ : 2020/21 กับ 2021/22

ไม่ว่ากุนซือ เชลซี จะเปลี่ยนไปเป็นใคร โค้ชทุกคนต่างก็รู้ดีถึงศักยภาพของ เมาท์ เช่นเดียวกับ แกเร็ธ เซาธ์เกต ซึ่งไม่ลังเลในการเปิดที่ทางในทีมชาติอังกฤษให้ และแน่นอน เทน ฮาก ก็มองเห็นแง่งามที่ เมาท์ มี จึงเดินเครื่องสั่งลุย "จัดหน่อยพี่" เอาตัวมาให้ได้ก่อนที่นักเตะจะตกเป็นสมบัติของ ลิเวอร์พูล, อาร์เซน่อล, นิวคาสเซิ่ล หรือใครอื่น

ก็เป็นอันว่าปิดดีลไปด้วยราคา 55+5 ล้านปอนด์ ด้วยเหตุผลคร่าวๆ ว่า

  • 1. อายุน้อย (24)

    2. สารพัดประโยชน์

    3. เก่ง (ถ้าใครยังกังขา ก็ย้อนไปดู CV รางวี่รางวัล บรรทัดข้างบนอีกที)

เพียงแต่มิพักก็ต้องมีคำถาม ว่ามา แมนฯ ยูไนเต็ด แล้ว...จะลงตรงไหน?

Mason Mount
Derby County v Ipswich Town - Sky Bet Championship / Alex Pantling/GettyImages

แทนที่ เอริคเซ่น

ด้วยความสารพัดประโยชน์ของ เมาท์ อย่างที่ว่าไป ก็แน่นอนว่า เทน ฮาก จะสามารถใช้งานลูกทีมรายใหม่ของเขาได้อย่างสนุกมือ สามารถเอาลงตรงไหนก็ได้ นอกจากกลางรับหรือเกมรับ

แรกสุดคือ การมาแทนที่ คริสเตียน เอริคเซ่น โดยตรง

ไม่มีใครปฏิเสธความยอดเยี่ยมของ เอริคเซ่น ได้--ผู้ที่ทำให้เส้นทางของตัวเองพิเศษกว่าใครด้วยการ "ตายแล้วฟื้น" แถมฟื้นกลับมาเป็นตัวหลักของท็อปทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด อย่างเต็มภาคภูมิ

การออกบอล จ่ายสั้นจ่ายยาว และเซนส์บอลระดับสูงของเพลย์เมกเกอร์เดนมาร์ก สร้างประโยชน์ให้กับทีมผีแดงได้อย่างมากในซีซั่นที่ผ่านมา โดยมีสถิติแอสซิสต์ที่ 10 ลูก (กับ 2 ประตู) ซึ่งจริงๆ แล้วยอดแอสซิสต์จะเพิ่มสูงกว่านี้อีกถ้าบรรดากองหน้ามีความเฉียบคม จบเข้าง่ายกว่าที่เป็น

ยิ่ง เทน ฮาก เลือกวาง เอริคเซ่น ยืนตัวต่ำคู่ กาเซมิโร่ ก็ยิ่งทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด มีมิติการเดินเกมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน คนนึงดูแลเกมรับ คนนึงดูแลเกมพาสซิ่ง และอีกคน (บรูโน่) ก็คอยสอดเข้าทำจากแถวสอง

อย่างไรก็ตาม ก็ชัดเจนอยู่ในทีว่าการมีแค่ "สามตัวยืน" เป็นหลักอย่างเดียว ไม่เพียงพอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาทีนี้ เอริคเซ่น อายุ 31 แล้ว และจะเข้าสู่ 32 ในวันวาเลนไทน์ปีหน้า เท่ากับช่วงเวลาปลดระวางก็คอยท่าอยู่ในอีกไม่ไกลนัก และ เมาท์ ในวัย 24 ก็คือตัวแทนที่ยอดเยี่ยมไปเลย

สำหรับ เมาท์ แม้โดยธรรมชาติจะเน้นรุกเป็นหลัก แต่ก็มีหลายครั้งที่เขายืนในตำแหน่งที่ต่ำลงไป เท่ากับสามารถเล่นเป็นประเภท "เบอร์ 8" ได้อย่างไม่ต้องปรับตัว เคียงข้างไปกับตัวรับ กาเซมิโร่ และตัวรุก บรูโน่

เมาท์ ยังสดกว่า พร้อมวิ่งถึงไหนถึงกัน มากกว่าทาง เอริคเซ่น อันจะทำให้ประโยชน์ของเกมเพรสซิ่งสูงขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับการเป็นตัวรุกเสริมเพิ่มเติมจาก บรูโน่

สิ่งเดียวที่ เมาท์ อาจจะเป็นรอง เอริคเซ่น อยู่หน่อยๆ ก็คือการจ่ายบอล แต่ก็ใช่ว่า เมาท์ จะด้อยในเรื่องนี้เสียหน่อย

เช่นกัน เทน ฮาก อาจออกสตาร์ทด้วยแผงกลางเก่า กาเซมิโร่ - เอริคเซ่น - บรูโน่ แล้วค่อยเปลี่ยนเอา เมาท์ ลงไปเติมความสดและความวูบวาบในภายหลัง ก็เป็นทางออกที่จะเกิดขึ้นแน่ในบางเกมของซีซั่นใหม่

Christian Eriksen, Mason Mount
Chelsea FC v Manchester United - Premier League / Matthew Ashton - AMA/GettyImages

เป็นตัวสลับกับ บรูโน่

บางคนรัก บางคนเกลียด บางคนก็อาจมองเห็นว่า บรูโน่ แฟร์นันเดส ไม่ได้เก่งกาจอย่างที่ถูกยกย่อง แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยก็ถือสถิติตัวเลขที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการทำประตู

3 ปีครึ่งของการค้าแข้งกับปีศาจแดง มิดฟิลด์โปรตุเกสจัดให้แล้ว 64 ประตู -- เฉลี่ยปีละ 18 ลูก และยังเคยมีซีซั่นที่กระหน่ำ 28 ประตูมาแล้ว (2020/21)

แต่ในขณะเดียวกัน เมาท์ ก็กดให้ เชลซี ไปแล้ว 33 ประตูจาก 4 ปี ซึ่งหมายถึงว่า ประสิทธิภาพในการเข้าทำของ เมาท์ ก็ไม่ใช่เบาเหมือนกัน

และสิ่งที่เป็นกับ แมนยู ในตลอดช่วงที่ผ่านมา ก็คือการที่ บรูโน่ คือคนที่ "ไม่มีตัวเปลี่ยน" สำรองรายไหนก็ตามไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้ในระดับเดียวกันกับดาวเตะวัย 28 (โดยเฉพาะ ฟาน เดอ เบ็ค ที่ควรแทนได้ แต่ก็ดูจะไม่ไหว)

บางที ปัญหานี้อาจหมดไปด้วยการมาของ เมาท์

กับการยืนกลางรุกเต็มรูกแบบ อาจเป็นได้ทั้งการสลับใช้กับทาง บรูโน่ หรือไม่ก็ถอย บรูโน่ ลงไปยืนต่ำหน่อย (แทน เอริคเซ่น) เพื่อให้ เมาท์ ได้เฉิดฉายกับตำแหน่งนี้อย่างเต็มที่

และด้วยการที่ แมนฯ ยูไนเต็ด มีสิทธิ์จะต้องลงเล่นแบบขาลากเหมือนเดิมกับสี่ซ้าห้ารายการของซีซั่นใหม่ อย่างน้อยที่สุด เมาท์ ก็จะช่วยให้ทีมของ เทน ฮาก มี "ประสิทธิภาพเชิงลึก" มากขึ้นกว่าเดิมแน่

Bruno Fernandes, Mason Mount
Manchester United v Chelsea - Premier League / Matthew Ashton - AMA/GettyImages

ออกริมเส้น

เป็นทางเลือกที่อาจเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่ก็ใช่ว่าจะปิดประตูตายเสียทีเดียว

เพราะ เมาท์ ก็คุ้นเคยดีอยู่แล้วกับการยืนในแผงรุกเต็มตัว ขึ้นเกมริมเส้นภายใต้หมาก 3-4-3 หรือ 4-3-3 ที่ เชลซี โดยเฉพาะในยุค โธมัส ทูเคิ่ล

นัดชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2021 ที่ เชลซี ชนะ แมนฯ ซิตี้ 1-0 เมาท์ ก็ถูกวางไว้เป็นปีกซ้าย โดยมี ไค ฮาแวร์ตซ์ อยู่ทางขวา และหน้าเป้า ติโม แวร์เนอร์

มีความเป็นไปได้ที่ เจดอน ซานโช่ อาจจะต้องอำลา โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ไปในซัมเมอร์นี้ (ด้วยราคาขาดทุนยับ) และ เมาท์ ก็จะถูกใช้งานเป็นตัวยืนริมเส้น พร้อมตัวเลือกอื่นอย่าง แรชฟอร์ด, มาร์กซิยาล และ อันโตนี่ โดยมี การ์นาโช่ เป็นสำรองเบอร์ต้น

การลงตรงจุดนี้ ยังเอื้อให้เกิดการ "สลับตำแหน่ง" ในระหว่างเกมเช่นกัน ซึ่งก็คือ เมาท์ แปะมือกับกลางรุกอย่าง บรูโน่ เพื่อสลับกันเข้าทำ เมื่อทั้งสองต่างก็สามารถเล่นได้ทั้งกลางรุกและตัวริมเส้น

Mason Mount
Aston Villa v Chelsea FC - Premier League / Naomi Baker/GettyImages

ยิ่งมาเร็วยิ่งดี

สุดท้ายท้ายสุด การรีบปิดดีลตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเป็นเรื่องดีของ แมนฯ ยูไนเต็ด

ไม่ต้องสงสัยว่าถ้าหากไม่มีปัญหาบาดเจ็บแทรกซ้อน เมาท์ ก็จะได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เป็นโอกาสของ เทน ฮาก ในการลองส่งจิ๊กซอว์ชิ้นใหม่ของเขา ลงเล่นในตำแหน่งต่างๆ กันไป ค้นหาว่าอะไรคือจุดที่ดีที่สุด ตรงไหนลงตัวที่สุด สำหรับช่วงปรีซีซั่นที่กำลังจะมาถึง

  • 12 กรกฎาคม vs ลีดส์ ยูไนเต็ด (นอร์เวย์)

    19 กรกฎาคม vs โอลิมปิก ลียง (สกอตแลนด์)

    22 กรกฎาคม vs อาร์เซน่อล (สหรัฐฯ)

    25 กรกฎาคม vs เร็กซ์แฮม (สหรัฐฯ)

    26 กรกฎาคม vs เรอัล มาดริด (สหรัฐฯ)

    30 กรกฎาคม vs โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (สหรัฐฯ)

    5 สิงหาคม vs ล็องส์ (โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด)

    6 สิงหาคม vs แอธเลติก บิลเบา (ไอร์แลนด์)

วางคิวไว้เยอะเต็มเหยียด 8 นัดแบบนี้ แม้ในแง่หนึ่งอาจน่าปาดเหงื่อแทนแข้งผี แต่ เทน ฮาก จะได้ทำการทดลองอย่างเต็มที่ และ เมาท์ ก็มีโอกาสได้ทำความรู้จัก ปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ได้เต็มที่เช่นกัน เพื่อให้พร้อมที่สุดสำหรับ พรีเมียร์ลีก 2023/24

แม้เอาเข้าจริง เราอาจยังไม่สามารถไว้วางใจได้เต็มที่นักว่า เมาท์ จะแจ้งเกิดและประสบความสำเร็จกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้จริงๆ

แต่ด้วยราคา 55+5 ล้านปอนด์ ที่ไม่ได้แพงเกินไปในโลกฟุตบอลทุกวันนี้ บวกกับ CV ที่ผ่านๆ มาของ เมาท์ ก็ทำให้เข็มชี้ไปใน "แดนบวก" มากกว่าจะดิ่งไปทางลบ

เช่นกัน ด้วยการจิ้มเลือกของ เทน ฮาก เอง ที่ก็เห็นแล้วว่า หลายๆ ดีลปีก่อน บวกมากกว่าลบเช่นกัน (กาเซมิโร่, เอริคเซ่น, มาร์ติเนซ สอบผ่าน อันโตนี่, มาลาเซีย สอบตก) ก็ทำให้น่าเชื่อว่า เมาท์ มีโอกาสรุ่งมากกว่าริ่ง

และไม่นานก็คงได้เห็นคำตอบที่ชัดๆ ว่า เมาท์ มาทำไม และจะลงตรงไหนในทีมปีศาจแดง