กรรมการ-วีเออาร์… ความผิดพลาดซ้ำซากที่สุดแสนจะน่าเบื่อ - OPINION

Manchester City v Brighton & Hove Albion - Premier League
Manchester City v Brighton & Hove Albion - Premier League / Visionhaus/GettyImages
facebooktwitterreddit

กรรมการในฐานะของผู้ตัดสินเกมการแข่งขันในทุกประเภทกีฬา เป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องเจอกับแรงกดดันมากที่สุดอาชีพหนึ่งในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ยิ่งในเกมการแข่งขันที่มีการเข้าประทะกันแทบทุกนาทีอย่าง ฟุตบอล การตัดสินของกรรมการมักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ

ทุกวันนี้กรรมการถูกเพ่งเล็ง และกลายเป็นประเด็นในสังคมออนไลน์เสมอ การเลือกกรรมการเข้ามาตัดสินเกมที่กำลังจะมาถึงกลายเป็นหนึ่งใน “คอนเทนต์” หนึ่งที่จะหยิบยกว่าใครจะมาตัดสิน และผลงานของพวกเขาก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ทีมไหนเคยได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากพวกเขามาบ้าง

กรรมการในยุคก่อนหน้านี้เป็นผู้ตัดสินใจเพียงหนึ่งเดียวในสนาม อาจมีบ้างที่รับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากผู้กำกับเส้นมาช่วยประกอบการตัดสินใจ จนกระทั่งการเข้ามาของ โกลไลน์ (Goal Line) และ VAR (Video Assistant Referee) ก็ทำให้กรรมการได้รับความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการเพิ่มความเห็นในการตัดสินใจ หรือการต้องการความชัดเจนในการตัดสินใจแต่ละครั้ง…เพียงแต่ว่าทุกการตัดสินใจก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้อง และยังคงมีหลายประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงเสมอ เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น “กรรมการในสนาม” ยังคงถือสิทธิ์ในการตัดสินเป็นเด็ดขาด เพียงแต่ว่ากรรมการในห้อง VAR มาช่วยในบางส่วนเพื่อให้เกมการแข่งขันสามารถเดินต่อไปได้เร็วที่สุดบนพื้นฐานความถูกต้องมากที่สุด

West Ham United v Chelsea FC - Premier League
West Ham United v Chelsea FC - Premier League / Visionhaus/GettyImages

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการตัดสินผิดพลาดก็ยังมีขึ้น แน่นอนเรากำลังพูดถึงการตัดสินที่ผิดพลาดของ ลี เมสัน กรรมการในห้อง VAR ในเกมกับ อาร์เซนอล เสมอกับ เบรนท์ฟอร์ด 1-1 ที่ตัดสินว่าลูกตีเสมอของเบรนท์ฟอร์ดกลายเป็นประตู และออกมายอมรับภายหลังว่าตนเองลืมตีเส้นเช็คล้ำหน้าที่มันกลายเป็นจังหวะล้ำหน้าที่ชัดเจน แต่สุดท้ายประตูก็เกิดขึ้นแล้ว และนำมาซึ่งความไม่ยุติธรรมสำหรับทีมเจ้าบ้าน แน่นอนรวมถึงทีมเยือนที่พวกเขาได้ประโยชน์จากความผิดพลาดนี้ เพราะได้หนึ่งคะแนนกลับบ้าน รวมถึงยังมีเคสที่ผิดพลาดในเกมที่เกิดขึ้นระหว่างไบร์ทตัน พบกับ คริสตัล พาเลซ ซึ่งเกิดขึ้นจากการตัดสินที่ผิดพลาดของ จอห์น บรู๊คส์ ผู้ตัดสินในห้อง VAR อีกเช่นกัน ซึ่งทั้งสองเคสที่เกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกัน กลายเป็นประเด็นร้อน (มาก) ที่ทำให้ PGMOL ต้องออกมาจัดการและเตรียมตัดสินใจอะไรบางอย่างในช่วงเวลาอีกไม่ช้านี้

Soccerex - Manchester: Day Four
Soccerex - Manchester: Day Four / Dave Thompson/GettyImages

PGMOL (Professional Game Match Officials Limited) องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2001 ภายใต้ชื่อ PGMOB ก่อนมาเปลี่ยนเป็นชื่อดังกล่าวในเวลาต่อมา องค์กรนี้เป็นองค์กรที่พัฒนา. ฝึกสอน และแต่งตั้งผู้ตัดสินสำหรับในเกมการแข่งขันพรีเมียร์ ลีก, อีแฟแอล รวมถึงการแข่งขันที่ได้รับการรับรองโดยเอฟเอในทุกระดับของอังกฤษ โดย ฮาเวิร์ด เว็บบ์ อดีตผู้ตัดสินระดับพรีเมียร์ ลีก (2003-2014) เป็นหัวหน้าขององค์กรนี้ โดยเว็บบ์ผ่านงานระดับฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศมาแล้วในปี 2010

ในแต่ละเกมการแข่งขัน PGMOL จะมีหน้าที่ในการกำหนดว่า กรรมการ, ผู้ช่วยผู้ตัดสิน และทีมงานในห้อง VAR จะเป็นใครในแต่ละเกม โดยจะแบ่งเป็นในระดับพรีเมียร์ ลีก และในระดับ เดอะ แชมเปี้ยน ชิพ ซึ่งในแต่ละระดับก็จะมีหัวหน้าในการดูแลแยกย่อยลงไปอีก

ในทุกเดือนกรรมการทุกคนในทุกระดับจะต้องเข้ามาประชุมร่วมกัน และลงทำการฝึกซ้อมการตัดสินรวมถึงมาวิเคราะห์การตัดสินในแต่ละจังหวะ แต่ละเคสที่เกิดขึ้น ทุกคนที่ลงทำการตัดสินในแต่ละเกมการแข่งขันในทุกตำแหน่งหน้าที่จะถูกองค์กรจับตาดูผลงานในทุกสัปดาห์มีการประเมินผลงานในการตัดสิน และเก็บข้อมูลออกมาเพื่อประเมินใหญ่ในช่วงจบฤดูกาล และนั่นหมายถึงว่าถ้าใครผลงานออกมาดี เกมที่จะได้รับลงทำหน้าที่ก็จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากใครมีปัญหาผลงานไม่ดีก็จะถูกลดชั้น ซึ่งนี่เป็นในส่วนพื้นฐาน อย่างไรก็ตามในส่วนของบทลงโทษที่มากกว่านี้ก็ยังไม่มีอะไรที่แน่ชัดนัก แม้กระทั่งการลดชั้นของกรรมการที่ผิดพลาดก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

จากกรณีที่เกิดขึ้นกับอาร์เซนอล รวมถึง ไบร์ทตัน ในสัปดาห์เดียวกัน ฮาเวิร์ด เว็บบ์ มีการแจ้งไปยังทั้งสองสโมสรเพื่อระบุว่ามันคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ตัดสิน (Human Error) และจะประชุมเพื่อหาทางป้องกัน…แค่นั้น ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของเว็บบ์ที่เคยกล่าวถึงว่าเขาต้องการให้กรรมการเป็นบุคคลมีมาตรฐานที่ดีในการตัดสินในสายตาของแฟนบอล และคงทำได้เพียงรอว่าสุดท้ายแล้ว PGMOL จะวางมาตรการบทลงโทษ และมาตรฐานอย่างไร หากเกิดกรณีผิดพลาดโดยบุคลากรในองค์กรของตนเอง โดยมีการเรียกประชุมด่วนหลังเกิดเรื่อง “งามหน้า” ถึงสองครั้งในวันเดียวกัน

ลี เมสัน รวมถึง จอห์น บรู๊คส์ ทั้งสองคนเป็นผู้ตัดสินที่มีประสบการณ์มากทั้งคู่ แต่ความผิดพลาดที่เป็นความผิดพลาดขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของการใช้งาน VAR (คนแรกไม่ตีเส้นเช็คล้ำหน้าเพื่อตรวจสอบการล้ำหน้าและกลายเป็นประตู อีกคนตีเส้นผิดเพราะยังมีผู้เล่นทีมรับยืนอยู่เหนือผู้เล่นทีมรุก) ทำให้มีกระแสรุนแรงในการปลดพวกเขาออกจากการทำหน้าที่ตัดสินเกมอย่างถาวร หรือมีบทลงโทษที่มากกว่าการพักงานเพียงเล็กน้อย

เมื่อทุกวันนี้ “กรรมการ” มีอาวุธและเกราะป้องกันในการตัดสินของตนเองมากขึ้นเพื่อความถูกต้องบนพื้นฐานที่ว่าต้องใช้เวลาไม่นานเกินไปในการตัดสินแต่ละครั้งเพื่ออรรถรสในเกมการแข่งขัน คุณภาพของกรรมการผู้ใช้งานเทคโนโลยีก็ต้องพัฒนาขึ้นตามไปด้วยเพื่อไม่ให้กลายเป็น “เทคโนโลยีชั้นสูง แต่การตัดสินยังไม่ได้มาตรฐาน” ในแบบที่แฟนบอลจำนวนมาก มองเห็นกรรมการในฟุตบอลอังกฤษเป็นเช่นนั้น ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงจะพูดไม่ได้เลยว่ามันคือเรื่องที่เกินจริง เพราะมันมีเคสตัวอย่างจำนวนมากที่การมี VAR ไม่ได้ช่วยให้เพิ่มความชัดเจนได้ทั้งหมดจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า VAR ก็ช่วยเหลือได้หลายครั้งกับการตัดสินใจที่ชัดเจนสำหรับทุกฝ่าย กับเทคโนโลยีที่เข้ามาสู่วงการฟุตบอลและทำให้โลกฟุตบอลไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หากมอง นักฟุตบอลและโค้ช ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลงานให้ดี เรียนรู้แผนการเล่นและการทำงานของตนเอง “กรรมการฟุตบอลอังกฤษ และ VAR” ก็ไม่ต่างจากคนรู้จักที่คบกันมาร่วมสองปีกว่าแล้ว ทะเลาะกันบ้าง ดีกันบ้าง และยังคงต้องเรียนรู้กันต่อไป เพียงแต่ว่าหากคบกันแล้วไม่ช่วยให้อะไรให้มันดีขึ้น การแยกทางกันน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม และคนที่ต้องไปไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นบุคลากรต่างหาก ที่ต้องเดินจากไป เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยี นำมาซึ่งสิ่งที่ทุกคนต้องการคือความชัดเจนที่มากขึ้น กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของเรื่องราวที่เพียงสองตาของมนุษย์ไม่อาจทำได้

ในทางกลับกัน “กรรมการ” ก็เป็นหนึ่งในคนที่โดนบูลลี่มากที่สุดในสนาม เมื่อการตัดสินของพวกเขาผิดพลาด หรือกระทั่งไม่ผิดพลาดแต่ไม่เป็นที่พอใจของแฟนบอล นี่เป็นเรื่องที่เลวร้ายสำหรับพวกเขาที่ PGMOL และ FA ต้องหามาตรการในการช่วยเหลือพวกเขา และหาบทลงโทษมาจัดการกลุ่มคนที่ล้ำเส้นของแฟนบอล ซึ่งทุกอย่างควรจะเริ่มต้นจากการพัฒนามาตรฐานการตัดสินใจให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เพื่อใครก็เพื่อบุคลากรในองค์กรของตนเอง

หลายครั้ง “ถูกต้อง” แต่ไม่ “ถูกใจ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน แต่สุดท้าย “ถูกต้อง” จะเป็นเครื่องยืนยันการตัดสินที่ดีที่สุดสำหรับกรรมการทุกคน นี่คือหนึ่งในงานที่ยากที่สุดอาชีพหนึ่ง เป็นความรับผิดชอบใหญ่สมกับอำนาจในการตัดสินของพวกเขาตลอด 90 นาทีในฐานะของผู้ควบคุมเทคโนโลยี

หาก PGMOL ต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้แข็งแกร่งและเรียกความน่าเชื่อถือของตนเองกลับคืนมาจากแฟนบอลสองเคสที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องชัดเจนในการตัดสินใจ บทลงโทษต้องหนักหน่วง และมาพร้อมมาตรการป้องกันหากเกิดขึ้นอีก มิฉะนั้นสุดท้ายแล้วพวกเขาก็แค่องค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบ่งบอกว่าตัวเอง “รักความยุติธรรม อยากให้เกิดความยุติธรรม” แต่ก็ยังพร้อมผิดพลาดไม่เลิกราและจบด้วยคำว่า “ขอโทษ” ที่มันไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาพูดมาแล้วกี่ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว และมันยิ่งไร้ค่าลงไปทุกวัน

หากเปลี่ยนจาก “ขอโทษ” เป็นการ “เปลี่ยนแปลง” มันคงมีอะไรที่ไม่ “น่าเบื่อ” แบบที่เป็นอยู่เช่นนี้อย่างแน่นอน