วิเคราะห์แนวทางการทำทีมของ เกรแฮม พ็อตเตอร์ ผู้จัดการทีม เชลซี คนใหม่ กับภารกิจคืนชีพให้ สิงโตน้ำเงินคราม - OPINION

Brighton & Hove Albion v Leicester City - Premier League
Brighton & Hove Albion v Leicester City - Premier League / Robin Jones/GettyImages
facebooktwitterreddit

ถือเป็นข่าวช็อควงการในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้สำหรับบอร์ดบริหาร เชลซี ที่ตัดสินใจปลดฟ้าผ่าไล่ โธมัส ทูเคิล กุนซือมือพระกาฬที่เคยพาทีมคว้าแชมป์ยุโรปเมื่อปี 2021 จากการที่ผลงานของสโมสรไม่เป็นไปตามเป้าในช่วงต้นฤดูกาลที่ผ่านมา

อดีตก็คืออดีต จะพร่ำเพ้อไปมันก็คงไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะเพียงหนึ่งวันหลังจากนั้น สิงห์บลู ก็เปิดตัวนายใหญ่คนใหม่อย่าง แกรแฮม พ็อตเตอร์ เข้ามานั่งเก้าอี้กุนซือคนต่อไปเป็นที่เรียบร้อยชนิดที่ยังไม่ทันได้ทำใจ ก็ต้องมูฟออนก้าวต่อไปทั้งน้ำตาเลยก็ว่าได้

เส้นทางการคุมทีม

ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษรายนี้เริ่มต้นอาชีพกุนซือกับการคุมทีม ออสเตอร์ซุนด์ ทีมดังในลีกสวีเดนเมื่อปี 2011 ซึ่งในขณะนั้นยังเล่นอยู่ในระดับดิวิชั่น 3 ของประเทศ ซึ่งภายในฤดูกาลเดี่ยวก็สามารถพาทีมเลื่อนชั้นมาเล่นในดิวิชั่น 2 ได้สำเร็จ และสามารถขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้เมื่อปี 2016

กระทั่งปี 2018 โอกาสกับฟุตบอลอังกฤษก็มาถึงและเป็น สวอนซี ที่ ณ เวลานั้นค้าแข้งอยู่ใน เดอะแชมเปี้ยนชิพ จัดการคว้าตัวมาคุมทีมซึ่งผลงานก็ไม่ดีไม่แย่พาทีมจบอันดับ 10 แต่แล้วช่วงซัมเมอร์ปี 2019 ไบรท์ตัน ที่เพิ่งจะแยกทางกับ คริส ฮิวตัน ก็มาทาบทามไปคุมทีมในลีกสูงสุดเมื่อผู้ดีเป็นครั้งแรก ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้มาจนถึงปัจจุบัน พ็อตเตอร์ ได้วางรากฐานจนผลผลิตของ ทัพนกนางนวล กำลังแบ่งบานได้ที่ในซีซั่นนี้ด้วยผลงานยอดเยี่ยมรั้งอันดับ 4 ของตาราง แต่ก็ถูก เชลซี โฉบเอาตัวไปในที่สุด

Blackburn Rovers v Swansea City - Sky Bet Championship
Blackburn Rovers v Swansea City - Sky Bet Championship / Athena Pictures/GettyImages

ปรัชญาของ พ็อตเตอร์

อย่างที่หลาย ๆ คนทราบกันดีว่าเขาคนนี้มีสไตล์การคุมทีมแบบค่อนข้างโมเดิลพอสมควร เน้นเกมรุก เน้นครองบอล มีการเข้าทำที่สวยงาม หลากหลาย และที่สำคัญเป็นกุนซือที่ใช้แนวทางการเล่นแบบ 3 เซ็นเตอร์มาตั้งแต่สมัยที่คุมทีมใหม่ ๆ ในลีกสวีเดนอีกด้วย ซึ่งนั่นอาจจะเป็นข้อดีเพราะนักเตะ เชลซี ที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับระบบแบบนี้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในแผนเกมรุกก็จะใช้วิงแบ็ค 2 ฝั่งซ้ายขวาทำหน้าที่เติมเกมริมเส้น ซึ่งที่นี่เขาจะได้ร่วมงานกับลูกมือที่คุ้นเคยอย่าง มาร์ค คูคูเรญา ที่ปลุกปั้นขึ้นมากับมือซีซั่นก่อนอีกครั้ง ขณะที่กองกลางและกองหน้าค่อนข้างจะยืดหยุ่นพอสมควร เล่นได้หมดทั้งหน้า 3 กลาง 2 หรือกลาง 3 หน้า 2 แม้แต่หน้า 1 กลาง 4 ก็มีให้เห็นบ่อย ๆ ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์และปรับใช้ตามความเหมาะสม

FBL-ENG-PR-BRIGHTON-LEICESTER
FBL-ENG-PR-BRIGHTON-LEICESTER / ADRIAN DENNIS/GettyImages

แดนกลางคือหัวใจสำคัญ

แม้ว่า ไบรท์ตัน จะต้องเสียกำลังหลักไปถึง 3 รายในช่วงซัมเมอร์ทั้ง อีฟส์ บิสซูมา มาร์ค คูคูเรญา และ นีล โมเป ไป แต่ พ็อตเตอร์ก็สามารถสลับตำแหน่งการยืนภายในทีมให้สามารถทดแทนได้อย่างเหมาะสมและลงตัว ทรอสซาร์ด และ มาร์ช ถูกขยับไปเป็นวิงแบ็ค และถอย อเล็กซิส แมคอัลลิสเตอร์ มาเป็นตัวปั้นเกมแบบดีพไลน์เพลย์เมคเกอร์คอยออกบอลกลางสนาม โดยมี ปาสกัล กรอสส์ และ มอยเซส์ ไซเซโด เป้น บ็อกซ์ทูบ็อกซ์วิ่งขึ้นลงประสานงานเติมเกมรุกและรับ แถมยังมักจะให้ อดัม ลัลลานา และ เอน็อค เอ็มวีปู ลงมาช่วงแพคแดนกลาง และเมื่อสามารถคุมจังหวะได้ทั้งรุกและรับวิงแบ็คสองข้างก็แทบจะอิสระในการเติมเกมถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ตำแหน่งถนัดของทั้ง มาร์ช และ ทรอสซาร์ด แต่ด้วยระบบที่ลงตัวทำให้ผลงานของทั้งคู่โดดเด่นขึ้นมาจากการได้เติมเข้าไลุ้นกรอบเขตโทษบ่อย ๆ ซึ่งนี่ดูเหมือนจะเป็นไม้เด็ดที่ทำให้เกมของพวกเขาไหลลื่นจนสามารถโกยแต้มเป็นกอบเป็นกำได้ในช่วง 6 เกมที่ผ่านมา

Graham Potter, Alexis Mac Allister
Brighton & Hove Albion v Newcastle United - Premier League / Mike Hewitt/GettyImages

การขึ้นเกมที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

ในขณะที่ทีมใหญ่ ๆ มีเทรนในการสร้างสรรค์เกมจากหน้าปากประตูตัวเอง จะไม่มีการเปิดบอลยาว สาดจากหลังไปหน้า แต่จะค่อย ๆ ต่อบอลออกบอลสั้น ๆ ขึ้นจากผู้รักษาประตูมาที่กองหลัง หลังก็ผ่านไปกลาง กลางไปหน้าต่อ แต่ไม่ใช่สำหรับ พ็อตเตอร์ เพราะตั้งแต่เริ่มฤดูกาลใหม่ พลพรรคนกนางนวล เป็นทีมที่มีอัตราการเปิดบอลยาวมากเป็นอันดับที่ 4 จนถึง ณ เวลานี้ ซึ่งคิดเป็น 60% ของการผ่านบอลทั้งหมดเลยทีเดียว แต่... เปิดยังไงให้มีประสิทธิภาพ นี่ต่างหากคือประเด็นสำคัญ ซึ่งเคล็ดลับอยู่ที่การเซ็ตเกมจากกองหลังซึ่ง 4 ประสานทั้ง ดังค์ เวลต์มัน เว็บสเตอร์ และ แมคอัลลิสเตอร์ ที่ถอยลงมารับบอล ยืนเป็นไดมอนด์เชพในแดนตัวเองคอยมองหาเพื่อและออกบอล ยิ่งคู่แข่งเข้าบีบสูงก็ยิงเปิดพื้นที่ในแดนหลัง ซึ่งกองกลางคนอื่น ๆ โดยเฉพาะวิงแบ็คสองฝั่งจะสลับกันสอดขึ้นไปหน้าพื้นที่ว่าง แต่หากเป็นสถานการณ์ที่คู่แข่งยืมคุมโซน พวกเขาก็สามารถต่อบอลสั้นขึ้นเกมตามสไตล์พิมพ์นิยมได้เช่นเดียวกัน

Lewis Dunk, Graham Potter
Brighton & Hove Albion v Manchester City - Premier League / Steve Bardens/GettyImages

เกมรับที่เริ่มจากแดนศัตรู

อย่างที่เราเห็น ๆ ว่า ไบรท์ตัน ฤดูกาลนี้มักจะเริ่มตั้งรับตั้งแต่แดนของคู่แข่ง แต่พวกเขาไม่ใช้การวิ่งมาร์คตัวไล่เพลสส์แบบที่หลาย ๆ ทีมชอบทำกัน แต่พวกเขาจะใช้วิธียืนตั้งโซนในแดนศัตรู ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะยืนสูงแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องไล่ตั้งแต่หน้าเขตโทษ แต่ทุกคนจะประจำโซนปิดพื้นที่ของตัวเอง หากคู่แข่งเข้ามาในพื้นที่เมื่อไหร่ค่อยเข้าไปประกบและไล่กดดัน นั่นทำให้คู่แข่งที่พยายามขึ้นเกมจากแดนหลังทำได้อย่างยากลำบาก แต่การตั้งรับแบบนี้ก็อาจจะมีจุดอ่อนกับทีมที่วางบอลยาวแม่น ๆ และมีตัวเก็บบอลในแดนหน้าดี ๆ เหมือนที่พวกเขาโดน ฟูแลม เล่นงานนั่นเอง

FBL-ENG-PR-BRIGHTON-SOUTHAMPTON
FBL-ENG-PR-BRIGHTON-SOUTHAMPTON / GLYN KIRK/GettyImages

น่าสนใจว่าปรัชญาของ พ็อตเตอร์ ที่ได้วิเคราะห์ไปจะสามารถนำมาปรับใช้กับ สิงโตน้ำเงินคราม ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เวลาและดูกันไปยาว ๆ โดยเหยื่อรายแรกของกุนซือคนใหม่จะเป็น เรดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก กลางสัปดาห์หน้า หลังจากเกมลีกเสาร์-อาทิตย์นี้ที่ตามโปรแกรมพวกเขาจะต้องบุกไปเยือน ฟูแลม ถูกเลื่อนออกไป ก็คงต้องลุ้นกันว่าภารกิจกู้ชีพ สิงห์บลู จะเปิดหัวได้ดีแค่ไหน แต่บอกได้เลยว่า ทูเคิล เคยสร้างมาตรฐานเอาไว้ค่อนข้างสูง และแน่นอนว่า พ็อตเตอร์ เองจะต้องถูกโยงมาเปรียบเทียบแน่นอน อย่างไรก็ตามในโลกของฟุตบอลผลงานคือตัวชี้วัดทุกอย่าง ตราบใดที่เขาทำให้ทีมชนะได้ จะถูกวิจารณ์หนักแค่ไหน มันก็ไม่มีปัญหา...


สนับสนุนบทความของแท้ไม่ก็อปปี้ต้อง 90min.com เท่านั้น! *ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความหรือรูปภาพไม่ว่าวิธีใดๆ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมายที่ระบุไว้สูงสุด