ต่ำสุดสู่สูงสุด : จากทีมตกชั้น สู่วันที่ นิวคาสเซิ่ล ตีตั๋ว ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก - OPINION
แม้ผลเสมอ 0-0 เกม พรีเมียร์ลีก มันเดย์ไนท์ จะไม่เร้าใจในสายตาของแฟนบอลผู้ชื่นชอบการถล่มประตู แต่นั่นมากพอแล้วที่จะทำให้ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด บรรลุเป้าหมาย และไปถึงฝันที่ไม่เคยกล้านึกถึง เมื่อย้อนไปสักสี่ซ้าห้าปีก่อน
เพราะนาทีนั้น เดอะ แม็กพายส์ ยังเป็น "ทีมตกชั้น" อยู่เลย แต่มาวันนี้ พวกเขาตีตั๋ว ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สำเร็จแล้ว จึงควรมองย้อนไปพร้อมๆ กันว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขากันบ้าง กว่าจะมาได้ถึงจุดนี้
จากตกชั้นถึงเฉี่ยวตั๋ว ชปล.
การจำแนก "ยุคสมัย" ของ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ในช่วงหลายปีหลัง สร้างความอธิบายยากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เมื่อการผจญภัยของพวกเขาออกในทรง "ขึ้นสุดลงสุด" เต็มเหนี่ยวไปเลยพี่ เต็มที่ไปเลยเธอ
เช่น ยี่สิบปีก่อนในยุค อลัน เชียเรอร์ สาลิกาดงบินสูงถึงขั้นจบอันดับ 3-4-5 พรีเมียร์ลีกมาแล้ว แต่ในช่วงเดียวกัน (ที่ก็ยังคงมี เชียเรอร์ อยู่) ถอยลงไปจบถึงอันดับ 14 ก็มี
จากนั้นในช่วงสิบกว่าปีหลัง นิวคาสเซิ่ล ก็เคยตกต่ำถึงขั้น "ตกชั้น" มาแล้วในซีซั่น 2008/09 ตอนที่มี ไมเคิ่ล โอเว่น, ฟาบริซิโอ โกลอชชินี่, โอบาเฟมี่ มาร์ตินส์, โฮนาส กูเตียร์เรซ ในทีม และเปลี่ยนกุนซือเป็นว่าเล่นถึง 5 รอบในซีซั่นนั้น -- ที่จบอันดับ 18 ตามหลังที่ 17 ฮัลล์ ซิตี้ แค่แต้มเดียวเท่านั้น
แต่หลังจากกลับเลื่อนชั้นในเพียงปีเดียว นิวคาสเซิ่ล ก็พาตัวเองไปสู้แถวหัวตารางอีกครั้ง และได้ลุ้นไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เต็มตัวด้วยในซีซั่น 2011/12
ภายใต้การดูแลของ อลัน พาร์ดิว และขุนพลเอกอย่าง เดมบา บา, โยอัน กาบาย, ฮาเต็ม เบน อาร์กฟา, ชีค ติโอเต้ ผู้ล่วงลับ จนถึง ฟาบริซิโอ โกลอชชินี่ และ โฮนาส กูเตียร์เรซ นิวคาสเซิ่ล ทั้งเริ่มต้นได้ดีและจบได้ค่อนข้างสวย (มีตำหนิตรงกลางๆ ซีซั่น) จนเข้าป้ายสูงถึงอันดับ 5 ห่างจากอันดับ 3 อาร์เซน่อล ที่เป็นโควตาสุดท้ายของ ชปล. ปีนั้น แค่ 5 คะแนน
แม้จะไม่ได้ไปถ้วยใหญ่ แต่ทุกอย่างก็ดูดีในนาทีนั้น
จนไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าอีกแค่ 3-4 ปีให้หลัง นิวคาสเซิ่ล ก็จะ...ตกชั้นเสียอีกรอบ!
ความมืดดำในยุค ไมค์ แอชลี่ย์
ทั้งที่มาด้วยภาพของการแฟนบอลเต็มขั้น สวมเสื้อแข่งเชียร์ทีมไปกับแฟนๆ อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และมอบความหวังสร้างความฝันว่า นิวคาสเซิ่ล จะก้าวขึ้นไปเป็นทีมระดับท็อป แต่ทำไปทำมา กระแสต่อต้านเจ้าของสโมสรอย่าง ไมค์ แอชลี่ย์ เจ้าของกิจการร้านอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่ สปอร์ตส์ ไดเร็กต์ (เข้าเทกโอเวอร์ในปี 2007) ก็เริ่มลุกลามใหญ่โต จนแทบไม่มี ทูน อาร์มี่ คนใด อยากเห็น แอชลี่ย์ บริหารทีมอีกต่อไป
ช่วงปีประมาณ 2014 เป็นต้นมา ทุกแมตช์เดย์ ทั้งเหย้าและเยือน แฟนบอลกลุ่มใหญ่จะรวมตัวกันที่นอกสังเวียน ร้องเพลงและส่งเสียงตะโกนร่วมกันว่า "Ashley Out!" เช่นเดียวกับที่ป้ายข้อความนี้ถูกชูขึ้นบนอัฒจันทร์ฝั่งสีขาวดำ
เหตุผลหลักสำคัญคือ ทั้งที่เขารวยระดับล้นฟ้า ติดกลุ่มท็อปเจ้าของที่ร่ำรวยสุดในพรีเมียร์ลีก แต่งบประมาณที่มอบให้ทีมในแต่ละหน้าตลาด ต้องใช้คำว่า "เจียดเงิน" เศษเล็กเศษน้อย จนนานวันเข้า หลายปีเข้า พัฒนาการก็ไม่มี ไม่ต้องพูดถึงปรีดีให้เสียเวลา
ยังมีเรื่องของการบริหารคน การจิ้มเลือกใครเข้ามายังสโมสรทั้งในส่วนของฝ่ายบริหารและงานฟุตบอล ที่ล้วนแต่เข้าข่ายล้มเหลวแทบทั้งสิ้น
จนเมื่อความเสื่อมโทรมทุกอย่างประเดประดังเข้ามาพร้อมกัน นิวคาสเซิ่ล ก็ถึงคราวถูกคัดออก ตกชั้นอีกครั้งด้วยการเป็นอันดับ 18 ของซีซั่น 2015/16 หลังจากมัวเสียเวลากับ สตีฟ แม็คคลาเรน อยู่นาน กว่าจะเปลี่ยนเป็น ราฟาเอล เบนิเตซ (กลางเดือน มี.ค.) ได้ ก็สายเสียแล้ว
ยังดี ที่การตกชั้นไปอีกรอบนี้ นิวคาสเซิ่ล ก็ยังเด้งตัวคืนสู่ พรีเมียร์ลีก ได้เร็วในเพียงปีเดียวอีกเช่นเดิม ไม่ปล่อยให้ตกต่ำนานเกินกลับตัว
เงินมาก็กล้าฝัน
แล้วในที่สุด ฝันร้ายทุกอย่างของ ทูน อาร์มี่ ก็สิ้นสุดลง ด้วยการมาของกลุ่มทุน Public Investment Fund (PIF) ในการนำของมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเข้าเทกโอเวอร์ นิวคาสเซิ่ล ต่อจาก ไมค์ แอชลี่ย์ ลุล่วงในวันที่ 7 ต.ค. 2021 ด้วยสนนราคาประมาณ 300 ล้านปอนด์
ปิดฉาก 14 ปีแห่งความดำมืดในยุค ไมค์ แอชลี่ย์ ลงอย่างสมบูรณ์
และเมื่อมองตามโมเดลของ เชลซี, แมนฯ ซิตี้ หรือ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง แล้ว แฟนๆ สาลิกานาทีนั้น ก็เริ่มวาดฝันถึงชื่อ ลิโอเนล เมสซี่, คีลิยัน เอ็มบัปเป้, เนย์มาร์, คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือลดเพดานลงมาเหลือระดับพรีเมียร์ลีกอย่าง เจมส์ แมดดิสัน, ดีแคลน ไรซ์, คอนเนอร์ กัลลาเกอร์, สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ ก็ไหว
เช่นกัน กุนซือใหม่ที่จะถูกนำมาแทน สตีฟ บรูซ ก็เป็นชื่อระดับตัวท็อปอย่าง โชเซ่ มูรินโญ่ หรือ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่
แต่โดยอย่างไม่มีใครคาดคิด คนที่ PIF เลือกให้มาทำหน้าที่ กลับเป็นโค้ชหนุ่มชาวอังกฤษอย่าง เอ๊ดดี้ ฮาว ผู้ซึ่งเคยผ่านงานมาแค่ 3 จ๊อบ กับ บอร์นมัธ (2 รอบ) และ เบิร์นลี่ย์
กระนั้นก็กลายเป็นว่า นี่คือการเลือกที่ถูกต้องที่สุด ชนิดพลิกชะตาสโมสรได้อย่างที่ไม่มีใครกล้าคาดคิดมาก่อน
ติ๊กถูกในทุกอย่าง
แล้วภายหลังทำความรู้จักกับทีมแค่ไม่กี่เดือน เอ๊ดดี้ ฮาว ก็เริ่มขยับตัวในตลาดนักเตะ เริ่มต้นที่หน้าหนาว ต้นปี 2022 เพื่อคว้านักเตะที่ "เหมาะสมกับรูปแบบการทำทีม" เท่านั้น ไม่ใช่เน้นคว้าตัวดังราคาแพงมาเรียกแขก
- คีแรน ทริปเปียร์ 12 ล้านปอนด์จาก แอตฯ มาดริด
คริส วู้ด 25 ล้านปอนด์จาก เบิร์นลี่ย์
บรูโน่ กิมาไรส์ 40 ล้านปอนด์จาก โอลิมปิก ลียง
แดน เบิร์น 13 ล้านปอนด์จาก ไบร์ทตัน
มีเพียง คริส วู้ด รายเดียวเท่านั้นที่ก้ำกึ่งสอบผ่าน-สอบตก นอกนั้นฉลุยสวยๆ ทั้งหมด เป็นส่วนสำคัญให้ เอ๊ดดี้ ฮาว พลิกฟื้นทีมที่เสียวจะตกชั้นตอนต้นทาง มาเข้าป้ายอันดับ 11 ของซีซั่น 2021/22
ไม่ต่างกัน การเสริมทัพตอนซัมเมอร์ 2022 ก่อนเปิดซีซั่นนี้ ก็ยังเป็นไปในทิศทางเดิม คือ ฮาว ต้องมองเห็นก่อนว่าจะสร้างประโยชน์ให้ทีม เข้ากับสไตล์การเล่นได้จริง มีประโยชน์กับทีมจริงๆ ไม่ใช่มาเพราะชื่อดังหรือราคาแพง
- แม็ตต์ ทาร์เก็ตต์ 15 ล้านปอนด์จาก แอสตัน วิลล่า
นิค โป๊ป 10 ล้านปอนด์จาก เบิร์นลี่ย์
สเวน บ็อตมัน 35 ล้านปอนด์จาก ลีลล์
แล้วก็ อเล็กซานเดอร์ อิซัค มาด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 65 ล้านปอนด์จาก เรอัล โซเซียดัด
และทั้งกุนซือเจ๋ง ทั้งเสริมทัพแจ๋ว
นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ก็จึงเหมือน "ติ๊กถูกในทุกอย่าง" จนได้กลับสู่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกครั้งหลังเคยเข้ารอบแบ่งกลุ่มหนล่าสุด (เข้ารอบ 2) ตั้งแต่เมื่อ 2002/03 โน่นเลย
ท็อปโฟร์...สำเร็จแล้ว
เพราะ "แววดี" ของ นิวคาสเซิ่ล ยุค เอ๊ดดี้ ฮาว ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ครึ่งซีซั่นหลังของปีก่อนแล้ว ที่ชนะถึง 12 จาก 18 เกมสุดท้าย
พอมาซีซั่นนี้ เมื่อบวกกับปัจจัยเสริมอย่างการหลุดฟอร์มของ ลิเวอร์พูล, สเปอร์ส จนถึงการก้าวพลาดจนตกต่ำลงเสียเฉยๆ ของ เชลซี แล้ว ก็ทำให้สาลิกาตัวนี้ได้สยายปีกในที่สุด
หนึ่งคือ แพ้ยาก - แพ้แค่นัดเดียวถ้วนตลอดครึ่งซีซั่นแรก พร้อมมีระยะไร้พ่ายยาวนานถึง 17 เกมซ้อน (ชนะ 9 เสมอ 8) ช่วงเดือน ก.ย. ปีเก่า - ก.พ. ปีใหม่
สองคือ หลังเหนียว - 37 เกมของ นิค โป๊ป ทำคลีนชีตไป 14 รอบ มากกว่านี้มีแค่ ดาบิด เด เคอา (17) รายเดียว
และสามคือ อาจจะมีบางทีฉันดูสับสน แต่ก็ฟื้นตัวได้เร็ว - ตอนต้นปีมีช่วงไม่ชนะใคร 5 เกมติด (เสมอ 3 แพ้ 2) แต่หลังจากนั้นคือฮึดเข้าเบรคชนะ 5 เกมซ้อน หรือล่าสุดกับที่แพ้ อาร์เซน่อล คาบ้าน 0-2 ต่อด้วยเสมอ ลีดส์ แบบน่าแพ้ 2-2 ก็แก้ตัวกลับมาทันด้วยการถล่ม ไบรท์ตัน 4-1 และ "ปิดจ๊อบ" ด้วยการเสมอ เลสเตอร์ 0-0
70 แต้มที่เข้ามือจากผลชนะ 19 เสมอ 13 แพ้แค่ 5 นำพาให้ นิวคาสเซิ่ล ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ในถ้วยยุโรป
ไม่สำคัญเลยว่า เกมสุดท้ายที่จะออกไปเยือน เชลซี จะได้ผลแบบไหน ต่อให้แพ้ 250 เสียง -เอ๊ย- แพ้ 250-0 (แล้ว แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 2 เกมท้ายด้วย) นิวคาสเซิ่ล ก็ยังจะได้ไป ชปล. รอบแบ่งกลุ่มซีซั่นหน้า ในฐานะทีม 4 อันดับแรกของ พรีเมียร์ลีก อยู่ดี
จากความเจี๋ยมเจี้ยมในฐานะทีมตกชั้นและน้องใหม่เมื่อปี 2016-2017 นาทีนี้ นิวคาสเซิ่ล "ยืด" ได้อย่างหล่อแล้วกับการเข้าป้ายที่หัวแถว
ยังเท่ากับว่า Public Investment Fund (PIF) และ เอ๊ดดี้ ฮาว ใช้เวลาเพียงไม่ถึง "ปีครึ่ง" พลิกฟื้น นิวคาสเซิ่ล จากทีมท้ายตาราง ให้ไปจบท็อปโฟร์และลุย แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้สำเร็จด้วย
ถึงบรรทัดนี้ ไม่ลุกขึ้นปรบมือให้สาลิกา ก็ใจร้ายไปหน่อยแล้ว!