“จากรุ่นสู่รุ่น” แนวทางสไตล์ อาแจ็กซ์ กับชะตากรรมที่มิอาจเลี่ยงของ "ลีกรองบ่อน" - OPINION
- ดูซาน ทาดิช ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และทำให้ทีมที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกในฤดูกาล 2018-2019 ไม่มีใครลงเล่นกับทีมอีกแล้ว
- อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เป็นหนึ่งในสโมสรที่เสียนักเตะหลักในทุกฤดูกาล เช่นเดียวกับหลายสโมสรในเอเรเดวิซี ลีก
ฤดูกาล 2018-2019 อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ภายใต้การคุมทีมของ เอริค เทน ฮาก เกือบได้กลับไปยังจุดเดิมที่พวกเขาเคยไปถึงนับจากปี 1996 กับการเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก น่าเสียดายที่พวกเขาพ่ายสเปอร์สในรอบรองชนะเลิศ แบบเจ็บช้ำกับการเสียประตูในนาทีสุดท้ายของเกมเลกที่สองที่มากพอจะหยุดเส้นทางฝันของพวกเขา
การประกาศการจากทีมไปของ ดูซาน ทาดิช (34 ปี) ที่ขอยกเลิกสัญญากับทีมไปเมื่อวานนี้ กลายเป็นจุดสิ้นสุดของทีมชุดตัวจริงในวันนั้นทั้งหมด ไม่มีใครลงเล่นกับทีมอาแจ็กซ์อีกแล้ว ซึ่งรวมถึง เอริค เทน ฮาก และเหล่านักเตะสำรองในเกมวันนั้นด้วย ทั้งหมดแยกย้ายไปกันภายในเวลา 4 ปี
11 ตัวจริงในเกมรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ ลีก เลกที่สอง ฤดูกาล 2018-2019
- อันเดร โอนาน่า (อินเตอร์ มิลาน กำลังจะย้ายไปแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)
- นิโก้ ทาเกลียฟิโก้ (โอลิมปิก ลียง)
- นูเซียร์ มาสราอุย (บาเยิร์น มิวนิค)
- มัทธิอัส เดอ ลิคส์ (บาเยิร์น มิวนิค)
- ดาลีย์ บลินด์ (กิโรน่า)
- ลาร์ส โชน (เอนอีซี ไนจ์เมเก้น)
- เฟรนกี้ เดอ ยองก์ (บาร์เซโลน่า)
- ฮาคิม ซิเย็ค (เชลซี)
- ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)
- ดูซาน ทาดิช (ไม่มีสังกัด)
- แคสเปอร์ ดอลเบิร์ก (อันเดอร์เลชท์)
หลายคนอาจจะสงสัย หรือคิดว่า อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เป็นทีมที่ปั้นนักเตะขายเยอะมากในแต่ละฤดูกาล ซึ่งเป็นสิ่งที่สโมสรแห่งนี้เป็นมาตลอดหลายทศวรรษ นี่คือ “ชะตากรรมของลีกรอง” เอเรเดวิซี ลีก ไม่ใช่ลีกที่ได้รับความนิยมระดับ Top 5 ของวงการฟุตบอล แต่พวกเขาก็เป็นลีกที่มีมาตรฐานที่ดีลีกหนึ่ง เพียงแต่ว่าเมื่อเทียบกับการแข่งขันภายในประเทศทั้งการแข่งขันในสนาม หรือในเรื่องของสภาพทางการเงิน พวกเขาไม่ใช่คู่แข่งของลีกระดับชั้นนำได้เลย
อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม, เฟเยนูร์ด (หรือใครจะเรียกว่า เฟเยนอร์ด ก็ได้เพราะคนดัตซ์เขาอ่านกันแบบนั้น) ร็อตเตอร์ดัม และ พีเอสวี ไอน์โฮเฟ่น คือ สามผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศ ที่เคยคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ มาแล้วทั้งสิ้น แต่ในภาพรวมของลีก พวกเขามีช่วงเวลาที่รุ่งเรือง และร่วงหล่นตามแต่วาระเวลาด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับตัวลีกที่ถ้าไม่ใช่สามสโมสรนี้ เราจะได้เห็นนาน ๆ ทีมีมีสักสโมสรโผล่ขึ้นมาท้าทายอำนาจและการลุ้นแชมป์ อย่างเช่น อาแซด อัลค์มาร์ หรือว่า เอฟซี ทเวนเต้ เป็นต้น
อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมาโดยตลอด พวกเขามีระบบเยาวชนที่สร้างขึ้นมานานมากกว่า 6 ทศวรรษตั้งแต่ยุคของ “ท่านนายพล” ไรนุส มิทเชลล์ ลากยาวมาจนถึง โยฮัน ครอยซ์, หลุยส์ ฟาน กัล หรือในยุคหลังอย่าง แฟรงค์ เดอ บัวร์, ปีเตอร์ บอสซ์ และแน่นอน เอริค เทน ฮาก ที่กำลังไปได้สวยกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ระบบเยาวชนถูกเชิดชู และให้ความสำคัญเป็นหนึ่งในแผนงานหลักมาโดยตลอด
พวกเขาปั้นนักเตะเยาวชนกันตั้งแต่เริ่มเตะฟุตบอลเป็นจนกระทั่งพร้อมแล้วสำหรับการขึ้นมาเล่นในระดับอาชีพ เด็กส่วนมากโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก การมาเล่นกับอาแจ็กซ์ เหมือนมาเล่นฟุตบอลกับเพื่อน ค่อยๆ ซึมซับแนวคิดการเล่นฟุตบอลในสไตล์ของอาแจ็กซ์มากขึ้นตามวัย บางคนอย่างเช่น พี่น้องตระกูลทิมเบอร์ (ยูเรี่ยน และ ควินเทน) ก็ย้ายจาก เฟเยนูร์ด มาที่นี่ตอนอายุ 13 ปี ก่อนที่ ยูเรี่ยน ได้ไปต่อ แต่ ควินเทน เลือกกลับไปที่เดิมและแจ้งเกิดได้สำเร็จในเวลาต่อมา
พวกเขาสร้างนักเตะป้อนสโมสร สร้างชื่อเสียง คว้าแชมป์ในประเทศ และบางช่วงเวลาพวกเขาหาญกล้าท้าทายยุโรปแบบที่เกิดขึ้นในปี 2019 ที่มีเด็กเทพหลายคนแจ้งเกิดมากมาย เพียงแต่น่าเสียดายที่วันหนึ่งเด็กเหล่านี้ก็ต้องย้ายออกไป ด้วยเมื่อข้อเสนอที่สมน้ำสมเนื้อ และสโมสรที่ติดต่อเข้ามา คือสโมสรจากลีกใหญ่ สโมสรใหญ่ พวกเขาก็เลือกจะไม่รั้งใจใคร แต่ก็จะไม่ปล่อยโอกาสในการทำรายได้ในเวลาเดียวกัน
อาแจ็กซ์ มีกฎเหล็กในการซื้อขายนักเตะไม่กี่ข้อ แต่เป็นไม่กี่ข้อที่ต่อรองไม่ได้เลย
- นักเตะต้องอยากย้ายไปในทีมที่ติดต่อเข้ามา
- พวกเขาต้องได้ข้อเสนอที่พวกเขาพอใจเท่านั้น
เมื่อรู้ตัวดีว่าลีกของตนเองไม่ใช่ลีกที่ดีที่สุดของโลกฟุตบอล อาแจ็กซ์ และอีกหลายสโมสรก็ไม่มีความจำเป็นต้องรั้งนักเตะที่ดีที่สุดของตนเองไว้เกินงาม มองความฝันของนักเตะ + ธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน จากกันด้วยดี จากกันให้คิดถึง และส่งต่อเรื่องราวของคนเหล่านั้น ให้กับนักเตะเยาวชนรุ่นต่อไป
มาร์โก ฟาน บาสเท่น เคยเป็นแรงบันดาลใจของ พาทริค ไคลเวิร์ต
มาร์ค โอเวอร์มาร์ส เคยเป็นแรงบันดาลใจให้กับ เวสลีย์ ชไนเดอร์
ยุคใหม่ที่กลับบ้านมาอีกครั้งอย่าง ดาวี่ คลาเซ่น คือแรงบันดาลใจของเด็กรุ่นใหม่มากมายที่วันนี้พวกเขาภูมิใจที่ได้รับเลือกให้สวมเสื้อที่มีตราสโมสรเป็นรูปใบหน้าของ “อาหยักซ์ เดอะ เกรท” (อาแจ็กซ์ , ไอแอ็กซ์ แล้วแต่จะเรียกเลยนะครับ หนึ่งในวีรบุรุษเมืองทรอย) ที่ออกแบบให้ใช้เส้น 11 เส้น ประกอบกันเป็นใบหน้าของเขา อันหมายถึง “11 คน เป็น 1 เดียว นั่นคือสโมสรแห่งนี้”
ดังนั้น ยูเรียน ทิมเบอร์ กับคลิปการบอกลาสโมสรของเขาในการย้ายไปสู่อาร์เซนอลที่ออกมาจึงมีการพูดถึงเรื่องราวของการเป็นแรงบันดาลใจส่งต่อไปยังรุ่นต่อไปที่จะมารับช่วงต่อแทนเขานั่นเอง
ในเมื่อไม่สามารถที่จะพัฒนาในองคาพยพทั้งทุกส่วนของลีกได้ สโมสรก็ปรับตัวให้เข้ากับสังคมยุคสมัยใหม่ที่ ณ เวลานี้ ทุนนิยมเข้ามาแบบเต็มตัว พร้อมกับการรักษมาตรฐาน และความภาคภูมิใจในสโมสรแห่งนี้ให้คงอยู่คู่กับเมืองหลวงแห่งเนเธอร์แลนด์นี้ให้คงอยู่ตลอดไป