3 จังหวัดชิงจัด "คิงส์ คัพ" ครั้งที่ 48
โดย W.PINTHONG
ตามที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดให้จังหวัดที่มีความพร้อมเสนอแผนจัดการแข่งขันฟุตบอล International ‘A’ Match ตามปฏิทิน ฟีฟ่า เดย์ หรือ ศึก คิงส์ คัพ ครั้งที่ 48 ในช่วงระหว่างวันที่ 19-27 กันยายน 2565 โดยให้ ส่งเอกสาร ยื่นความจำนงค์ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานั้น
สมาคมฯ ได้รับการเสนอตัวจากสามจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ซึ่ง ฝ่ายจัดการแข่งขันของสมาคมฯ และบริษัทไทยลีก ได้ประชุมร่วมพร้อมกับแจ้งรายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆ กับตัวแทนของ จังหวัดสงขลา และ จังหวัดเชียงใหม่ แล้ว ขณะที่ จังหวัดเชียงราย จะมีการนัดประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดต่อไป
สำหรับ การแข่งขันฟุตบอลระดับ International ‘A’ Match ดังกล่าวจะจัดเป็นแบบทัวร์นาเมนต์ 4 ทีม ซึ่งการออกไปจัดในจังหวัดที่มีความพร้อม เพื่อเป้าหมายในการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม ความภาคภูมิใจ ในการจัดกิจกรรมที่แต่ละจังหวัดจัดขึ้นมา
โดย จังหวัดที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจะต้องมีความพร้อมพื้นฐานตามเกณฑ์ต่างๆ ของแมตช์นานาชาติ ดังนี้
– สนามแข่งขัน ห้องปฏิบัติการ และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำของไทยลีก หรือ เอเอฟซี (เนื่องจากเป็นทัวร์นาเมนต์ 4 ทีม จะต้องมีสนามซ้อมอย่างน้อย 2 สนาม และ ห้องแต่งตัวของสนามแข่งขันอีก 4 ห้อง)
– ไฟส่องสว่างสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐาน
– สนามซ้อมที่ได้มาตรฐาน
– ไฟส่องสว่างสนามซ้อม ที่ได้มาตรฐาน
– โรงแรม ในระดับ 3-5 ดาว และเพียงพอต่อการรองรับ บุคลากรในส่วนต่างๆ ทั้งในเรื่องของทีมแข่งขัน, คณะผู้ตัดสิน และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน
– อาหารนานาชาติ
– การเดินทางจากสนามบินนานาชาติ และสนามบินในประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ห่างเกินไป
– บุคลากรจัดการแข่งขัน
ทั้งนี้ ข้อกำหนดต่างๆ ถือเป็นการยกระดับ ปรับปรุง สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามแข่งขัน สนามซ้อม ให้กับสนามกีฬาจังหวัด ซึ่งส่งผลต่ออนาคตที่ประเทศไทยจะมีสนามที่ได้มาตรฐานนานาชาติ ตามที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ระบุไว้มากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมฯพร้อมที่จะสานฝันเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการนำกิจกรรมฟุตบอลต่างๆ ลงไปสนับสนุน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านฟุตบอล เช่น การอบรมผู้ฝึกสอน, แนะนำความรู้สำหรับบุคลากรในการจัดการแข่งขัน, ฟุตบอลคลินิก, กิจกรรมอาสา (Volunteer Program) และการพัฒนาฟุตบอลระดับรากหญ้า (Grassroot)
โดยในโครงการดังกล่าว จะมีกิจกรรมต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์เดียวกันกับแมตช์การแข่งขัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของฟุตบอล เช่น
– การฝึกอบรม ผู้ฝึกสอนฟุตบอลในระดับเบื้องต้นหลักสูตร G License (ผู้ปกครอง, ครู อาจารย์, ผู้ฝึกสอนอคาเดมี ฯลฯ)
– กิจกรรมฟุตบอลคลินิก หรือ Grassroots Day ให้กับเยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปีในจังหวัด
– คอร์สการอบรมระยะสั้นให้ความรู้การจัดการฟุตบอล (Stadium Guide, Match Operation, Media and Communications) สำหรับบุคลากรในจังหวัดที่สนใจ
– กิจกรรม ช้างศึกอาสา หรือ Volunteer ที่จะเข้ามาช่วยการจัดการแข่งขันแมตช์ทีมชาติ