ความรัก – ฟุตบอล - ดนตรี และการอำลาของ “เซอร์ เอลตัน จอห์น” - FEATURES

Watford v Wigan Athletic - Sky Bet Championship
Watford v Wigan Athletic - Sky Bet Championship / Charlie Crowhurst/GettyImages
facebooktwitterreddit

การเป็นแฟนบอลสักคนมันไม่ใช่เรื่องยาก แต่มันก็ไม่ได้ง่ายที่จะถวายหัวใจให้กับทีมฟุตบอลสักทีม แต่บางครั้งการที่คุณได้บอกว่าคุณคือแฟนบอลทีมอะไรมันก็ง่ายแสนง่ายกับความบังเอิญ หรือวันที่คุณเกิดมาคุณก็ได้รู้จักทีมฟุตบอลทีมหนึ่งสักทีม และคุณก็หลงรักมันแบบไม่มีเหตุผล

ผู้เขียนเคย “เกือบ” ได้เป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล มาด้วยความที่คนรอบข้างวัยเด็กเป็นแฟนบอลทีมนี้ทุกคน แต่พี่ชายบอกกับผู้เขียนว่า “โทษทีว่ะ มันเต็มแล้ว เราไม่รับกองเชียร์เพิ่ม”เด็กวัยไม่เกิน 6 ขวบคนนั้นเชื่อสนิทใจว่ามันเต็มเลยไม่ได้เป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล และทีมไหนเลย พร้อมกับการเล่นฟุตบอลพลาสติกในซอยข้างบ้านกับเพื่อนมาตลอดจนอายุ 12 อาร์เซนอลก็เข้ามาในชีวิต กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

ในวงการฟุตบอล เรื่องของการที่จะมีคนดังระดับโลก ศิลปิน ดาราภาพยนตร์ ประกาศตัวเป็นแฟนบอลสักทีมก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่จะมีสักกี่คนที่เติบโตขึ้นมาในวงการฟุตบอลด้วยความเป็นแฟนบอลตั้งแต่เด็ก และจบด้วยการเป็นเจ้าของทีมที่เขารัก หนึ่งในนั้นคือ เซอร์ เอลตัน จอห์น (75 ปี) ศิลปินมือเปียโนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในวงการดนตรี ผู้ซึ่งรักวัตฟอร์ด ตั้งแต่เริ่มจำความได้

เขาเกิดในลอนดอนภายใต้ชื่อในตอนที่เกิดว่า เรจินัล “เรจจี้” เคนเนธ ดไวท์ ใช้ชีวิตแบบคนลอนดอนที่ชอบฟุตบอล และรักในเสียงดนตรี สุดท้ายเขาเลือกที่จะรักฟุตบอลในการชม และลงมือทำกับเส้นทางดนตรี เข้าร่วมวงที่ชื่อว่า บลูโซโลจี้ ในฐานะของมือเปียโน ก่อนที่จะถูกค่ายเพลงเห็นถึงศักยภาพของชวนมาทำอัลบั้ม เรากำลังพูดถึงยุค 60 – 70 ยุคที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เนตคือคำประหลาด และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยังไม่เกิด แต่เสียงเพลงของเขาก็โด่งดังไปทั่วโลก ภายใต้ชื่อ เอลตัน จอห์น ซึ่งเขาเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ เอลตัน ดีน และ ลอง จอห์น บัลดรี้ สองเพื่อนคนสนิทร่วมวงบลูโซโลจี้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในวงการดนตรี

เอลตัน จอห์น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในขณะที่วัตฟอร์ดทีมเชียร์ผลงานตกต่ำไปไกลถึงดิวิชั่น 4 อันเป็นลีกสุดท้าย ถ้ายังตกชั้นอีก หมายความว่าจะกลายเป็นทีมนอกลีกกันไปแล้ว เขาจึงตัดสินใจซื้อสโมสรมาเป็นของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่ง่ายที่สุด เพราะนี่คือทีมที่เขาเชียร์ตั้งแต่เด็ก และแน่นอนเขามีเงินพอจะซื้อ

Graham Taylor - Soccer Manager, Elton John
Watford FC in the FA Cup Semi-Finals / Express/GettyImages

การเข้ามาของเขา และการดึงตัว เกรแฮม เทย์เลอร์ ผู้จัดการทีมหนุ่มวัยเพียง 33 ปี มาร่วมงานด้วย คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง ประธานสโมสรที่เป็นนักร้องชื่อดังมาซื้อทีมบ้านเกิด กับผู้จัดการทีมหนุ่มไฟแรง เป็นสูตรผสมของภาพยนตร์ดี ๆ ได้สักเรื่อง พวกเขาสองคนสร้างปรากฎการณ์ 6 ปี จากทีมในดิวิชั่น 4 สู่การเป็นรองแชมป์ดิวิชั่นหนึ่ง (เทียบเท่ากับพรีเมียร์ ลีก) ในฤดูกาล 1982-83 ยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนบอลวัตฟอร์ดที่เกิดทันยุคนั้น พวกเขาได้เล่นยูฟ่า คัพ ในฤดูกาลต่อมา ขณะที่ เอลตัน จอห์น ตัดสินใจขายทีมไปในปี 1987 ขณะที่ เกรแฮม เทย์เลอร์ ออกจากทีมไปรับงานกับแอสตัน วิลล่า ในปีเดียวกัน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อหนึ่งปีต่อมา หลังการออกจากทีมของพวกเขาสองคนทีมตกชั้นทันที จนกระทั่งสุดท้าย เอลตัน จอห์น กลับมาซื้อทีมอีกครั้งในปี 1997 และแน่นอน เกรแฮม เทย์เลอร์ คือคนที่เขาเลือก เมื่อเทย์เลอร์ ล้มเหลวอย่างหนักกับการคุมทีมชาติอังกฤษและไม่ได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1994 เขากลายเป็น “หัวผักกาด” (Turnip Head) ของสื่อมวลชนที่คนทั่วไปเอาไปเรียกต่อ เป็นหนึ่งในการบูลลี่ที่อัปยศที่สุดในยุคที่การล้อเลียนยังเป็นเรื่องตลกของคนในสังคม

การกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งทำให้ วัตฟอร์ต กลับมาสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งในชื่อพรีเมียร์ ลีก แต่ครั้งนี้มันไม่เหมือนก่อนแล้ว พวกเขาช่วยกันให้วัตฟอร์ด คงสถานะในพรีเมียร์ ลีก เอาไว้ได้ แต่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในปี 2001 เทย์เลอร์ วัย 57 ปี (ณ เวลานั้น) ออกจากทีม เขาไปคุมทีมแอสตัน วิลล่า ทีมเก่าของเก่าอีกทีมเป็นเวลาหนึ่งปี และก็รีไทร์จากงานนี้ตลอดกาล ส่วน เอลตัน จอห์น วัย 55 ปี (ณ เวลานั้น) ก็ออกจากตำแหน่งในปี 2002 เพื่อมุ่งหน้าไปยังสายดนตรีแบบเต็มตัว สิ้นสุดยุค “จอห์น-เกรแฮม” โดยเกรแฮม เทเลอร์ เสียชีวิตแล้วในปี 2017

ชีวิตก็เหมือนดอกไม้มีช่วงเวลาที่สวยงามและเหี่ยวเฉา กาลเวลาพรากอะไรจากเราไปหลายอย่าง บางคนก็อาจถูกพรากความทรงจำไปด้วย แต่ไม่ใช่สำหรับสโมสรวัตฟอร์ต ที่จะลืมชายสองคนที่ทำให้พวกเขาได้มีรอยยิ้ม และความสุขร่วมกัน

เกรแฮม เทย์เลอร์ ผู้ล่วงลับได้รับเกียรติยศที่เขาควรได้รับมากกว่าฉายาเฮงซวยที่สื่ออังกฤษยัดเยียดให้เขา สำหรับที่นี่เขาคือตำนานของสโมสร รูปปั้นของเขาที่หน้าสนาม วิคาเรจ โร้ด ในปี 2019 คือตัวแทนแห่งความรักที่สโมสรมอบให้เขาตลอดไป เช่นเดียวกับชื่อของสแตนด์ในสนาม “Graham Taylor Stand” และ “Sir Elton John Stand” ที่มอบให้พวกเขาสองคนเป็นเกียรติยศ

Graham Taylor
Bristol City Women v Chelsea Women - FA Women's Continental Tyres League Cup Final / James Gill - Danehouse/GettyImages

2022 หรือ 20 ปีต่อมาหลังการวางมือจากการเป็นประธานสโมสรวัตฟอร์ต เอลตัน จอห์น กลับมาที่วัตฟอร์ดอีกครั้ง เขาอยู่ในฐานะของประธานกิตติมศักดิ์ของสโมสรแห่งนี้นับแต่อำลาทีม และในปีนี้หลังจากที่เขาประกาศว่า “Farewell Yellow Brick Road” จะเป็นการทัวร์คอนเสิร์ตสุดท้ายของเขาซึ่งจะกินเวลายาวนานถึง 5 ปีเต็ม (2018-2023) เดินทางไปทั่วโลกในหลายทวีป ชื่อของสนาม วิคาเรจ โร้ด คือหนึ่งใน หมุดหมายที่เขาใส่ไว้ในทัวร์คอนเสิร์ตนี้เขา ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะรุ่งเรือง หรือร่วงหล่น เขาก็มาเปิดสนามแสดงที่สนามแห่งนี้มาแล้วหลายครั้ง และในวันอำลางานที่รัก มีหรือจะไม่มีชื่อสนามที่รักอยู่ในลิสต์ของการบอกลา และยิ่งบังเอิญไปกว่านั้นเมื่อปีนี้ วิคาเรจ โร้ด ครบรอบ 100 ปีพอดี ที่สโมสรมีการทำแคมเปญมากมายเพื่อเฉลิมฉลองวาระพิเศษ และแน่นอนเรื่องราวของ เรจจี้ ดไวท์ เด็กหนุ่มคนนั้นที่กลายเป็น เซอร์ เอลตัน จอห์น คนนี้ คือหนึ่งในเรื่องราวที่ต้องถูกนำมาบอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้ฟัง ได้เห็น และได้จดจำเอาไว้

กรกฎาคม 2022 ท่ามกลางงานคอนเสิร์ตอำลาของเขา ณ สนาม วิคาเรจ โร้ด นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้มาเปิดการแสดงคอนเสิร์ตที่นี่ เอลตัน จอห์น ชูเสื้อวัตฟอร์ตสีขาว-ดำ อันเป็นเสื้อแข่งใหม่แบบที่สาม (3rd Kit) ของสโมสร ผลิตโดย เกลเม่ (Kelme) แบรนด์ดังสัญชาติสเปน เป็นการเปิดตัวเสื้อที่ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวาย แค่ให้คนที่รักทีมนี้ที่สุดคนหนึ่งแบบไม่ต้องถามว่ารู้ได้อย่างไรชูมันขึ้นบนเวทีคอนเสิร์ตของเขา ก็คือการเปิดตัวเสื้อแข่งที่ไม่เหมือนใครแล้ว…สำหรับเขา วัตฟอร์ต และดนตรี คือความรักที่แยกกันไม่ออกว่าสิ่งใดมากกว่ากัน แต่ที่รู้ได้อย่างแน่นอน มันคือ “ความรัก” ที่เขาจะมอบให้ตลอดไป จนกระทั่งวันอำลาลมหายใจของตนเอง


สนับสนุนบทความของแท้ไม่ก็อปปี้ต้อง 90min.com เท่านั้น! *ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความหรือรูปภาพไม่ว่าวิธีใดๆ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมายที่ระบุไว้สูงสุด