แอฟริกา ซูเปอร์ ลีก เปิดโลกใหม่ฟุตบอลกาฬทวีป - FEATURE

FBL-AFR-TZN-SUPERLEAGUE-CAF
FBL-AFR-TZN-SUPERLEAGUE-CAF / ELIA BENNET/GettyImages
facebooktwitterreddit

หลายคนอาจคุ้นชื่อของคำว่า “ซูเปอร์ ลีก” กันในช่วงปีทีผ่านมา หลังจากมีหลายสโมสรชั้นนำในยุโรปได้ทำการรวมตัวกันสร้างซูเปอร์ลีกขึ้นมาท่ามกลางเสียงเห็นด้วยจำนวนหนึ่ง และไม่เห็นด้วยจำนวนมากของแฟนบอล ในการสร้างลีกใหม่นี้ขึ้นมา แม้มันจะสามารถสร้างรายได้แบบถาวร และเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมากก็ตาม 

“เกียรติยศที่เงินก็ซื้อไม่ได้” คือสิ่งที่ “ซูเปอร์ ลีก” ไม่มี และสุดท้ายแนวคิดดังกล่าวก็ถูกล้มเลิกไปพร้อมกับการที่หลายสโมสรออกมาขอโทษแฟนบอลกับการตัดสินใจเลือกที่จะเข้าร่วมไปก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าถึงวันนี้แนวคิดนี้ก็ยังคงมีอยู่ และรอคอยโอกาสเหมาะสมที่จะกลับมาในอนาคต…แต่สำหรับในอีกซีกโลกหนึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว และมันเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา

แอฟริกา หากเราคิดถึงเรื่องของฟุตบอล มองจากมุมคนที่ไม่ได้เกิด ไม่เคยไปใช้ชีวิต ไม่รู้จักฟุตบอลอะไรมากมายในทวีปนั้น เราแทบไม่คุ้นเคยเลยว่า พวกเขามีลีกฟุตบอลอะไรบ้าง มีการเล่นระบบลีกอย่างไร แชมป์รายการใด ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักเพียงทีมชาติ นักเตะจากทวีปแอฟริกาที่เข้ามาเล่นในลีกใหญ่ในยุโรป และแน่นอนทัวร์นาเมนต์ใหญ่ของทวีปอย่าง แอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ ที่จะลงเล่นในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และทำให้สโมสรที่มีนักเตะจากแอฟริกา ต้องปล่อยตัวพวกเขาเหล่านั้นกลับมารับใช้ชาติในช่วงระหว่างฤดูกาล เป็นหนึ่งในข้อแม้หนึ่งที่สโมสรต้องรับทราบ และยอมรับหากจะเซ็นสัญญากับนักเตะเหล่านั้นเข้ามาสู่สโมสร

“แอฟริกา ซูเปอร์ ลีก” (Africa Super League) กับการรวมตัวกันของ 24 สโมสรฟุตบอลจากทั่วแอฟริกา (ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นตัวแทนจาก 16 จาก 54 ประเทศในแอฟริกา) จะมาลงทำการแข่งขันในรูปแบบของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลถ้วย โดยได้รับความร่วมมือจาก 54 ประเทศในทวีปแอฟริกาในการรวมตัวกันครั้งนี้  โดยปาทริซ มอทเซเป้ ประธานของสมาคมฟุตบอลทวีปแอฟริกา ได้มีการร่วมมือกับ จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานของทางฟีฟ่า ในการสร้างโปรเจคต์นี้ขึ้นมา หลังใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการศึกษารูปแบบ และความเป็นไปได้ในการก่อตั้งการแข่งขันนี้ขึ้นจนกลายเป็นรูปร่างในที่สุด

รูปแบบจัดการแข่งขันของแอฟริกา ซูเปอร์ ลีก

ในเบื้องต้นกับฤดูกาลแข่งขันแรกของรายการนี้จะเริ่มต้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2023 และจะสิ้นสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2024 จะแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละ 8 ทีม เล่นกันในแบบเหย้า-เยือนรวมแล้ว 14 เกม คัดเลือกเอา 5 ทีมที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มเข้ารอบ และอันดับ 6 ที่ดีที่สุดจากสามกลุ่มเข้ารอบต่อไปรวมเป็น 16 ทีม และมาจับสลากแข่งกันในแบบแพ้ตกรอบไปจนกระทั่งถึงรอบชิงชนะเลิศ รวมแล้วจะมีเกมการแข่งขันทั้งสิ้น 197 เกมด้วยกันต่อหนึ่งทัวร์นาเมนต์ 

ในทุกกลุ่มที่ดำเนินการแข่งขันต้องมีการแข่งขันกระจายตัวไปตามส่วนต่างๆ ของทวีป ซึ่งในทวีปแอฟริกาก็จะแบ่งออกมาเป็นตามภูมิศาสตร์ได้ 5 ส่วน ประกอบไปด้วย เหนือ / ใต้ / ตะวันออก / ตะวันตก และแอฟริกากลาง เพื่อเป็นการกระจายตัวของการแข่งขันไปให้ครอบคลุมมากที่สุด

สิ่งที่เด่นมากสำหรับรายการแข่งขันนี้คือเรื่องของเงินรางวัล ตามข้อมูลจาก BBC มีการระบุว่า รายการแข่งขันนี้จะมีรางวัลรวมอยู่ที่ 100 ล้านเหรียฐสหรัฐ หรือประมาณ 82 ล้านปอนด์ โดยทีมแชมป์จะได้เงินรางวัลรวมสูงสุดที่ 11.6 ล้านเหรียฐสหรัฐ หรือประมาณ 9.5 ล้านปอนด์ และทุกชาติสมาชิกที่เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์นี้จะได้รับเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีซึ่งแน่นอนว่าหากมองกันที่ตัวเลขเทียบกับในยุโรปแล้ว ยังห่างไกลอยู่พอสมควร แต่นี่ก็คือก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลแอฟริกา นอกจากนี้พวกเขายังมองไปถึงการหางบประมาณมาช่วยในเรื่องของวงการฟุตบอลหญิง และฟุตบอลในระดับเยาวชนของทวีปอีกด้วย

การแข่งขันที่ใหญ่ขึ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น ก็จะนำมาซึ่งตัวเลขการเงินที่เข้ามาสู่ระบบในหลากหลายรูปแบบทั้งเรื่องของผู้สนับสนุนรายการแข่งขัน, การถ่ายทอดสด, ลิขสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันภายในประเทศ และอีกหลายรูปแบบที่จะทำให้ “เงิน” หมุนเวียนเข้ามา ก่อให้เกิดรายได้ และการสร้างงานอีกมากมาย โดยมีเรื่องของฟุตบอลเป็นจุดเริ่มต้น และทั้งโลกจะได้รู้จักกับ แอฟริกา ซูเปอร์ ลีก กันในปีหน้า ในฐานะของทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปอีกหนึ่งรายการร่วมกับ แอฟริกัน แชมเปี้ยนส์ ลีก [ศักดิ์เทียบเท่ากับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก] และ ซีเอเอฟ คอนเฟเดอเรชั่น คัพ [เทียบเท่ากับ ยูโรป้า ลีก]

ทั้งนี้ แอฟริกา ซูเปอร์ ลีก จะมีระบบในเรื่องของการ “ขึ้นชั้น-ตกชั้น” ด้วย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียออกมาในส่วนนี้ ซึ่งจะมีผลต่อเรื่องของเงินรางวัลที่จะได้รับอีกด้วย

ขอต้อนรับสู่แอฟริกา ฟุตบอลยุคใหม่ของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นแล้ว


สนับสนุนบทความของแท้ไม่ก็อปปี้ต้อง 90min.com เท่านั้น! *ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความหรือรูปภาพไม่ว่าวิธีใดๆ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมายที่ระบุไว้สูงสุด