ชัยชนะของ อาร์เซนอล และหัวใจนักสู้ของผู้มาเยือนจาก นอร์เวย์ - FEATURE

Arsenal FC v FK Bodo/Glimt: Group A - UEFA Europa League
Arsenal FC v FK Bodo/Glimt: Group A - UEFA Europa League / Richard Heathcote/GettyImages
facebooktwitterreddit

จบเกมที่เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ในค่ำคืนฟุตบอลยุโรปอีกหนึ่งคืน ผลการแข่งขันไม่ทำให้แฟนบอลอาร์เซนอลผิดหวัง แต่สำหรับผู้มาเยือน แฟนบอลยืนขึ้นปรบมือให้กำลังใจทีมรักจากนอร์เวย์ด้วยความพึงพอใจ นั่นบ่งบอกถึงผลงานที่ออกมาสำหรับแชมป์ลีกจากแดนไวกิ้ง

อาร์เซนอล 3 – 0 โบโด/กลิมท์ สกอร์ที่ดูขาด แต่รูปเกมใน 45 นาทีหลังหากคุณเป็นหนึ่งในผู้ชมเกมนี้จะเห็นว่าทุกอย่างมาจบสิ้นลงในช่วง 6 นาทีสุดท้าย หลังการยิงประตูที่สามของเกมนี้เกิดขึ้น และมันเป็นทางฝั่งเจ้าบ้านที่ได้เฮ

มิเคล อาร์เตต้า จัดทีมชุดผสมตามที่เปรยเอาไว้ก่อนเกม 8 ตัวสำรองลงสนามมาในเกมนี้ เหลือเพียง กรานิท ชาก้า, กาเบรียล มากัญเยส และ กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ หลงเหลือมาจากเกมชนะสงครามลอนดอนเหนือ ซึ่งทั้งสามคนได้โอกาสจากข้อจำกัดของทีมปืนใหญ่เอง

กรานิท ชาก้า ในฐานะกองกลาง ทีมไม่มีทางเลือกมากนักเมื่อต้องการพักโธมัส ปาเตย์ และ โมฮาเหม็ด เอลเนนี่ ยังต้องพักยาว เขาคือทางเลือกที่ลงเล่นกับ แซมบี้ โลกอนก้า

กาเบรียล มากัญเยส ว่ากันตามตำแหน่งเขาเป็นทางเลือกหลักของกองหลังตัวกลางตัวซ้ายของปืนใหญ่ นอกนั้นถนัดเป็นตัวด้านขวาทั้งหมด ครั้นจะเลือกทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ที่เล่นตำแหน่งนี้ในทีมชาติญี่ปุ่น ก็ดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่โค้ชต้องการ และเลือกใช้งานเขาในตำแหน่งแบ็คขวาในวันนี้

กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ ลงเล่นต่อไปเมื่อ เอมิล สมิธ โรว์ ผู้ซึ่งเล่นในตำแหน่งนี้ได้อีกหนึ่งคนต้องผ่าตัดพักยาวไปแล้ว รีส เนลสัน เพิ่งกลับมาเป็นตัวสำรอง สุดท้าย “กาบิ” ลงตัวจริง

นอกนั้นทีมให้เวลาในสนามกับเหล่าตัวสำรองกันแบบเต็มที่ให้มากที่สุด เป้าหมายคือชนะต่อไปอีกเกม รักษาระดับความมั่นใจกันต่อไป

FBL-EUR-C3-ARSENAL-BODOE/GLIMT
FBL-EUR-C3-ARSENAL-BODOE/GLIMT / DANIEL LEAL/GettyImages

อาร์เซนอลในระบบ 4-2-3-1 เล่นกันด้วยความซับซ้อนในเกมนี้พอสมควร โดยเฉพาะตรงกลางสนามเมื่อไม่มี ปาเตย์ ที่เป็นนายท้ายคุมจังหวะ แต่อยากบุกแบบที่ทำมาในเกมก่อน ๆ อาร์เซนอลเริ่มต้นเกมรับด้วยแบ็คโฟร์ เซตเกมรุกด้วยแบ็คทรี ผลักดัน ชาก้า ขึ้นสูงเล่นเกมรุกร่วมกับตัวด้านบน โลกอนก้า ปักหลักด้านแผงหลัง มี เทียร์นีย์ ดันขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งเดิมของชาก้า มองด้วยระบบการยืนจะเล่นทั้งแบบ 4-2-3-1 สลับกับ 3-2-4-1 สลับไปมาแบบนี้ตลอด บ้างก็ใช้ โทมิยาสุ ขึ้นมาทำเกมรุกด้วยอีกคนแล้วแต่จังหวะ

โบโด/กลิมท์ มาในระบบ 4-3-3 พวกเขาเกือบทั้งทีมคือนักเตะสัญชาตินอร์เวย์แทบทั้งทีม เล่นกันอย่างเป็นระบบคือจุดขายของพวกเขา

20 นาทีแรกอาร์เซนอลเล่นด้วยความยากลำบาก แนวคิดความต้องการคุมเกมตั้งแต่นาทีแรก รุกให้เร็ว บุกให้หนัก หาประตูแรกให้ได้ เกมนี้ไม่ได้ง่ายแบบนั้น ทีมเยือนศึกษางานมาดีในวันนี้ พวกเขาไม่ได้เล่นเกมรับเต็มตัว แต่ใช้วินัยในเกมรับมาช่วยทีม เป้าหมายคือการตัดพื้นที่ตรงกลางสนามของอาร์เซนอลออกจากการเล่นเกมรุกให้ได้มากที่สุด อาร์เซนอลสามารถเซตบอลได้ถึงบริเวณกลางสนามจากนั้นทุกอย่างตรงกลางจะโดนบีบด้วยกองกลางสามคน หากหลุดไปแนวรับจะดันมาช่วยอีกหนึ่งชั้น อาร์เซนอลออกบอลสวย ๆ จากตรงกลางไม่ค่อยได้เท่าไรนัก บอลจึงกลายเป็นแนวข้างซ้าย-ขวาเข้าทำแทน

หลายครั้งเราจะเห็นการสลับตำแหน่งการเล่นของตัวบุกด้านบน ซึ่งวันนี้ใช้งาน มาร์ติเนลลี่, ฟาบิโอ วิเอร่า, มาร์ควินญอส และ เอนเคเธีย ในฐานะหน้าเป้า คอยขยับสลับตำแหน่งกันไปมา หาพื้นที่ให้ตัวเอง วิธีการนี้เป็นแผนการเล่นหลักในตัวรุกไปแล้ว ถ้าไม่ขยับหาช่องก็ไม่มีทางมีส่วนกับเกมได้ และถ้าขยับต้องขยับอย่างมีประโยชน์ (Most Efficient Mover) ซึ่งเรื่องนี้อาร์เซนอลสอนกันตั้งแต่ในระดับเยาวชนเลยทีเดียว และสุดท้ายประตูแรกของเกมนี้ก็มาจาก การสลับตำแหน่งและการเคลื่อนที่อย่างมีประโยชน์ทำให้เกิดประตูแรก

ประตูแรกของอาร์เซนอล : การเล่นเกมรับอย่างมีวินัยของโบโด/กลิมท์ ไม่ได้ก่อความผิดพลาดใด ๆ แต่การได้ดันเกมรุกของพวกเขาแล้วเสียบอล กลายเป็นปัญหา เมื่อเสียบอลปลายทางเกมรุกที่ไม่ได้จบ กองกลางสามคนที่ผนึกกันเป็นกำแพงไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง โฮลดิ้ง ตัดบอลได้ออกบอลให้วิเอร่า ที่ว่างอยู่จากการที่กองกลางทีมเยือนดันขึ้นมาบีบคู่กลางอาร์เซนอล

วิเอร่า พลิกบอลได้มองหาตัวบน จังหวะนี้จะเห็นว่า เอนเคเธีย ไม่ได้อยู่ตรงกลางแบบทุกที แต่เป็น มาร์ติเนลลี่ ที่หุบจากซ้ายเข้ามาตรงกลางรับบอล เทียร์นีย์ จากแบ็คซ้าย เตรียมสปรินท์ออกตัวเติมเกมทางซ้าย

จังหวะต่อมาคือคีย์หลักของประตูนี้ มาร์ติเนลลี่ ตัดเข้ากลางใช้ความเร็วทะลุตรงกลางที่โบโด/กลิมท์พยายามปิดช่องนี้มาตลอด 20 นาทีแรก ได้สำเร็จ กองหลังไม่กล้าดันขึ้นมา เพราะกองกลางก็ลงมาช่วยกันแล้วสถานการณ์นี้ มาร์ติเนลลี่ ได้เครดิตไปเต็มๆ ในการสร้างโอกาส เขาเลือกพาบอลไปจนคู่แข่งมาใกล้เขามากที่สุด และค่อยออกบอลให้เทียร์น์ที่ว่างอยู่ [ผายมือขอบอลรอแล้ว] สุดท้ายออกบอล  จะสังเกตได้ว่า เอนเคเธีย วิ่งตัดเข้ามาเพื่อกลับเข้าตำแหน่งหน้าเป้าของตัวเอง มาร์ควินญอส ไปทางขวาตามตำแหน่ง เมื่อบอลถึงเทียร์นีย์ ก็ซัดทันที ลูกนี้ถ้าเข้าก็คือจบ แต่อยากให้เห็นว่า เอนเคเธีย ก็ไม่ได้หยุดวิ่ง กับการเข้าไปตรงกลางรอดาบสอง ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริงเพราะบอลชนเสา และมาเข้าทางเข้ากลายเป็นประตู

Arsenal FC v FK Bodo/Glimt: Group A - UEFA Europa League
Arsenal FC v FK Bodo/Glimt: Group A - UEFA Europa League / MB Media/GettyImages

การเสียประตูแรกคือความผิดพลาดของทีมเยือน แต่การเสียประตูที่สองคือการ “ผิดแผน” ของพวกเขาอย่างแท้จริง เพราะทีมเยือนไม่ได้เสียทรงบอลเลยกับการเสียประตู แต่พวกเขาเสียประตูจากจังหวะสวนกลับ และประตูที่สองก็มาเสียจากการยืนตำแหน่งในการรับมือจังหวะต่อเนื่องจากลูกตั้งเตะ ซึ่งก็ไม่ใช่มาจากการเล่นโอเพ่นเพลย์ปกติอีกเช่นเคย และมันดันเกิดขึ้นในอีก 4 นาทีต่อมาหลังการเสียประตูแรก

โบโด/กลิมท์ เล่นในแบบของตัวเอง พวกเขาพยายามเซตเกมรับจากหน้าประตูแบบที่หลายทีมในพรีเมียร์ ลีก เลือกใช้งาน และแน่นอนอาร์เซนอลคือหนึ่งในนั้น จุดประสงค์ของการทำแบบนี้ มันคือการให้คู่แข่งดันขึ้นมากดดันไล่บอล เพื่อเปิดพื้นที่ด้านหน้าในเกมรุกให้มากกว่าเดิม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงถ้าออกบอลหลังบ้านพลาด ซึ่งมันก็พลาดจริง ๆ เพียงแต่การลงโทษมันเกิดจากจังหวะพลาดนั้น

ประตูที่สองของอาร์เซนอล: การเตะมุมครั้งแรกของเกมกลายเป็นจุดเริ่มต้น บอลโดนสกัดออกมาเข้าทางวิเอร่าอีกครั้งที่เป็นคนเตะมุม ณ เวลาที่ วิเอร่าได้บอลอีกครั้งในกรอบเขตโทษ นักเตะทีมเยือนมากกว่านักเตะอาร์เซนอลชัดเจน แต่ที่พลาดคือการยืนตำแหน่ง เมื่อเกมรับทีมเยือนกระจุกอยู่ตรงกลางเป็นก้อน แต่นักเตะอาร์เซนอล 2-3 คนอยู่ด้านเสาไกล วิเอร่าก็เปิดบอลไปเสาไกลตามที่มันควรจะเป็น

ลูกนี้คล้ายๆ กับจังหวะหลายๆ เกมที่ผ่านมา คนวิ่งไปข้างหน้ากับคนวิ่งถอยหลัง คนวิ่งไปข้างหน้าได้เปรียบกว่ามาก เมื่อคนเปิดบอล กับคนรับบอลเจอกันที่จุดนัดพบ ถ้าแนวรับถอยโหม่งไม่ได้ ก็คือวัดใจนายทวาร และอย่าให้คู่แข่งโหม่งเข้าประตูได้ แต่ลูกนี้ โฮลดิ้ง โหม่งเข้ามุมแรงพอจะผ่านมือนายทวารเข้าประตูไปเลย หมดจดมากจังหวะนี้

Rob Holding
Arsenal FC v FK Bodo/Glimt: Group A - UEFA Europa League / Richard Heathcote/GettyImages

สองประตูในช่วง 4 นาที อาร์เซนอล ควรจะเล่นได้สบายขึ้น และมันก็เป็นแบบนั้นในช่วงที่เหลือของ 45 นาทีแรก พวกเขามีโอกาส 2-3 ครั้งที่จะบวกประตูเพิ่มแต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ณ เวลานั้น ไม่มีใครคิดหรอกว่าอาร์เซนอลจะเจอกับความยุ่งยากในครึ่งหลัง ยิ่งเมื่อ 30 วินาทีแรกของครึ่งหลัง ชาก้า ยิงเต็มข้อในเขตโทษ แม้จะไม่เข้าประตูแต่ก็เป็นสัญญาณว่างานนี้น่าจะได้เห็นการปูพรมถล่ม…แต่ไม่ใช่เลย เมื่อปัญหาของอาร์เซนอลเริ่มมีให้เห็น และโบโด/กลิมท์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของพวกเขา

ครึ่งหลังสำหรับทีมตามหลัง เกือบทั้งหมดจะเดินหน้าบุกทันที แต่สำหรับ โบโด/กลิมท์ ของ เยติล นุสเซ่น โค้ชชาวนอร์เวย์ กลับมาพร้อมความมั่นใจ พวกเขายังคงยึดมั่นในการจะเซตเกมจากหลังบ้านของตนเองต่อไป แน่นอนมัน “เสียเวลา” สำหรับทีมตามหลัง และเสี่ยงกับการจะเสียบอลและเสียประตู แน่นอนมันก็พลาดแต่เมื่ออาร์เซนอลงโทษพวกเขาไม่ได้ พวกเขาก็ยังทำต่อไป ยิ่งเล่นยิ่งมั่นใจ ยิ่งเล่นอัตราการเสียบอลก็น้อยลง และแนวรุกของอาร์เซนอลเริ่มหาบอลไม่เจอจากการไล่เพรสซิ่ง และทำให้ทีมเยือนได้มีโอกาสบุก

ปัญหาเริ่มต้นที่ตรงนี้ เมื่อกองกลางวันนี้ไม่มี โธมัส ปาเตย์ คนที่เป็นกองกลางตัวรับหลักของทีม และเลือกใช้ แซมบี้ โลกอนก้า นักเตะที่ไม่ใช่กลางรับธรรมชาติมาเล่นกับชาก้า

Albert Sambi Lokonga
Arsenal FC v FK Bodo/Glimt: Group A - UEFA Europa League / Richard Heathcote/GettyImages

การเลือกพักโธมัส ปาเตย์ กองกลางคนสำคัญของทีมเป็นสิ่งที่ถูกคาดเดาได้อยู่แล้ว เมื่อพวกเขามีเกมใหญ่กับลิเวอร์พูลรออยู่ เช่นเดียวกับการเลือก โลกอนก้า ลงมาแทนที่ เขาไม่ใช่กองกลางตัวรับ แต่ด้วยแผนการเล่นของทีม ต้องมีกลางตัวต่ำหนึ่งคน ซึ่งเกมนี้เขาก็ทำงานได้ตามมาตรฐานตัวเอง คุมพื้นที่ได้จ่ายบอลไปรอบตัว แต่สำหรับกาเล่นในฐานะคนคุมจังหวะ “จังหวะ” ในการออกบอลว่าจะเดินเกมบุก หรือประคองเกมดึงช้า เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และโลกอนก้า ไม่มีความแน่นอนในจุดนี้ เขาเล่นไป “ตามเกม” แต่เขาไม่ได้เป็น “คนคุมเกม” เมื่อบวกกับการที่ ด้านบนเพรสซิ่งไม่ได้ผล บอลทะลุมาถึงตรงกลาง โลกอนก้า จึงไม่ได้เบรคเกมคู่แข่ง แต่เลือกจะวิ่งไปตามจังหวะ ทำหน้าที่ในการปิดตัววิ่งทำทาง แต่ไม่ได้วิ่งเพื่อขวางทางคนออกบอล [ขวางทาง ไม่ใช่วิ่งไปเข้าหาคนมีบอล]

ระบบมีปัญหา ช่องก็เปิด และเกมรุกของโบโด/กลิมท์ ก็เริ่มได้โอกาส ตัวรุกด้านบนเพรสซิ่งแต่ไล่ไม่จนแต้ม บวกกับนักเตะกลุ่มนี้เป็นตัวสำรองของทีม ยิ่งเหนื่อยความเข้าใจเกมความแม่นยำก็ยิ่งลด มิเคล อาร์เตต้า จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวจริงทั้ง เออเดการ์ด, เฆซุส รวมถึง ซาก้า ลงสนามมาแทนที่ทันที เขาเลือกจะใส่ตัวรุกชุดใหม่มากกว่าจะแก้เกมรับตรงกลาง แถมยังเปิดแลกด้วยการ ถอด กรานิท ชาก้า เป็นหนึ่งในสามคนที่โดนเปลี่ยนออกร่วมกับ มาร์ควินญอส และมาร์ติเนลลี่

ระบบการเล่น ณ เวลานั้น จาก 4-2-3-1 กลายมาเป็น 4-1-4-1 แบบเต็มตัว บนแนวคิดที่ยังคงใช้ เทียร์นีย์ ทำงานเป็น Invert Fullback มาช่วยโลกอนก้าอีกชั้นหนึ่งแทน

ผู้เขียนไม่กล้าวิจารณ์การตัดสินใจของโค้ช แต่มีความเห็นที่ว่า เกมนี้เป็นเกมที่เขาต้องการให้เวลากับนักเตะสำรองได้ลงเล่น โลกอนก้า – เอนเคเธีย และอีกหลายคนจึงได้เล่นจนถึงท้ายเกม แต่ก็ยังไม่เสี่ยงส่งดาวรุ่งไม่มีประสบการณ์อย่าง แมท สมิธ หรือว่า คาทาลิน เคียยาน สองกองกลางจากทีมเยาวชนลงสนามเช่นกัน ดังนั้นการใช้งานระบบ Invert Fullback ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการประคองเกมของทีม และเลือกเปลี่ยนเกมบุกชุดใหม่ที่สดกว่าลงไปสู้ต่อ

เกมของอาร์เซนอล ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิมมากนัก แต่สิ่งที่เห็นคือ โบโด/กลิมท์ เริ่มจะเปิดแลกมากขึ้น ดันเกมขึ้นสูง การเปลี่ยนนักเตะของพวกเขาใส่ตัวรุกลงมาเพิ่มแบบไม่มีทางเลือก เมื่อเวลาน้อยลงทุกที ประตูที่สามของเกมในวันนี้เป็นการตัดสินเกมอย่างแท้จริง 2-1 กับ 3-0 ต่างกันมากในแง่ของความรู้สึกของทีม และสุดท้าย อาร์เซนอล ในสถานการณ์ที่สูสีกัน ระบบทีมที่มีปัญหาถูกใช้มาเจาะตนเอง แต่ความต่างคือความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่น ในเกมที่เปิดกว้างมากขึ้นจากการแลกเป็นแลกของทีมเยือนนำมาซึ่งการปิดเกมนี้

ประตูที่สามของอาร์เซนอล : หลังจากอึดอัดอยู่นานจากการผลัดกันพลาดมาสักระยะ จากจังหวะทุ่มบอลของอาร์เซนอล มาถึง กาเบรียล เฆซุส ทางด้านข้าง อาศัยความสามารถเฉพาะตัวเอาชนะสองกองหลังทีมเยือนก่อนออกบอลให้กับ วิเอร่าที่ว่างโล่ง จากการเทกันเข้าไปรุม เฆซุส และตัวใกล้ปากประตูกันหมด บอลมาถึง วิเอร่า ก็เป็นอันใส่สกอร์ได้เลย ลูกนี้เครดิตประตูมาจากกองหน้าบราซิเลี่ยนแทบจะทั้งหมด

Gabriel Jesus, Brede Moe
Arsenal FC v FK Bodo/Glimt: Group A - UEFA Europa League / Shaun Botterill/GettyImages

ประตูที่สามนี้ทำให้เกมจบลงทันที อาร์เซนอล ผ่อนเกมลง แต่สำหรับ โบโด/กลิมท์ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นพวกเขายังคงพยายามมองหาประตูหลังจากนั้น ในขณะที่ อาร์เซนอล ได้สวนกลับก็พร้อมจะเอาเพิ่ม แต่สุดท้ายก็พลาดกันไปหมด จบเกมชัยชนะเป็นของเจ้าบ้านในแบบที่ต้องบอกว่า ทีมเยือน ทำให้อาร์เซนอลเจอกับงานยากเหมือนกับที่อาร์เตต้ากล่าวไว้ก่อนเกม และชื่นชมอีกครั้งเมื่อเกมนี้จบลง

“ผมมีความสุขกับผลการแข่งขันที่ออกมา วันนี้เราได้เล่นกับคู่แข่งที่ต่างออกมา เป็นคู่แข่งที่เล่นด้วยยาก อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และผมคิดว่าทุกคนก็ได้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็นอย่างไร”

ชัยชนะในเกมนี้ทำให้อาร์เซนอลมีความสุขกับผลงานที่ดีต่อเนื่อง และก็คงได้เห็นปัญหาที่ได้รับการทดลองใช้งานนักเตะหลายคนพร้อมกันในวันนี้ว่า หากในเกมต่อไปมีโอกาสแบบนี้อีก เขาจะรักษาสมดุลทีมอย่างไรให้ได้ผลการแข่งขันที่ดีที่สุด และนักเตะสำรองก็จะได้รับโอกาสลงสนามเช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน โบโด/กลิมท์ก็ทำให้เห็นว่าเกมต่อไปที่นอร์เวย์บ้านของพวกเขา มันจะไม่ใช่เกมง่ายอีกเช่นกัน