อัฐยายซื้อขนมยาย : นิวคาสเซิ่ล ขาย อัลลัน แซงต์-แม็กซิแม็ง ให้ทีมซาอุฯ ในเครือเดียวกัน ผิดถูกอย่างไร? - FEATURE
• นิวคาสเซิ่ล กำลังจะปล่อย อัลลัน แซงต์-แม็กซิแม็ง ไปซาอุฯ
• แต่ก็กลายเป็นคำถาม เหมาะสมหรือไม่อย่างไรกับการปล่อยให้ทีม "ในเครือเดียวกัน" เจ้าของสโมสรเดียวกัน
คงไม่จัดเป็นบิ๊กดีลของ พรีเมียร์ลีก ประจำซัมเมอร์นี้ กับการที่ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด กำลังจะปล่อยหนึ่งในดาวดังของตัวเองอย่าง อัลลัน แซงต์-แม็กซิแม็ง ไปสู่ โปรลีก ซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าสังกัด อัล-อาห์ลี
เพียงแต่ดีลนี้ก็ไม่วายถูกตั้งคำถามว่า "เหมาะสม" หรือไม่อย่างไร เมื่อเป็นการย้ายทีม "ในเครือเดียวกัน" เจ้าของสโมสรเดียวกัน อย่าง นิวคาสเซิ่ล กับ อัล-อาห์ลี ซึ่งเรารวบรวมสิ่งที่ควรรู้ทุกอย่างเอาไว้แล้วที่ตรงนี้...
อัลลัน แซงต์-แม็กซิแม็ง
ย้ายจาก แซงต์-เอเตียน ไปแจ้งดับกับ โมนาโก แบบที่แทบไม่เคยได้เล่นชุดใหญ่เลย (มีส่งยืมตัวไป ฮันโนเวอร์ และ บาสเตีย) แต่เมื่อโผสู่ นีซ ในช่วงซัมเมอร์ 2017 แล้ว ชื่อของ อัลลัน แซงต์-แม็กซิแม็ง ก็เป็นที่จับตาจากทุกฝ่ายเข้าจนได้
2017/18 แม้จะไม่ได้ช่วยให้ นีซ มีโทรฟี่ติดไม้ติดมือ (ซึ่งก็ไม่ได้มายี่สิบกว่าปีแล้ว) แถมหลุดจาก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แค่รอบเพลย์ออฟ (0-4 นาโปลี) แต่ปีกดาวรุ่งผิวสีวัย 20 ก็เล่นได้ดีระดับต้นๆ ของทีม ด้วยการกดรวม 5 ประตู มากกว่านี้มีแค่ อลาสซาน เปลอา (21) กับ มาริโอ บาโลเตลลี่ (26) และยังทำแอสซิสต์ไป 9 ครั้ง เช่นเดียวกับ 2018/19 ที่มาตรฐานยังดีคงเดิม ยิงไป 6 แอสซิสต์อีก 5 ให้กับทีมของ ปาทริค วิเอร่า
16 ล้านปอนด์ เป็นค่าเสียหายที่ นิวคาสเซิ่ล ควักจ่ายให้กับ นีซ เพื่อคว้าตัว แซงต์-แม็กซิแม็ง เข้ามาสวมเสื้อเบอร์ 10 และกระชากลากเลื้อยในฐานะตัวความหวังใหม่แห่ง เซนต์ เจมส์ พาร์ค
แม้จำนวนสกอร์ที่ทำได้ในแต่ละปีจะไม่ได้สูง หลักสี่ซ้าห้าลูก แต่ความวูบวาบบุกตะลุยปั่นป่วนแนวรับคู่ต่อสู้ด้วยพลังแรงสูง เปิดทางและเปิดป้อนให้เพื่อนเข้าทำ คือสิ่งที่ แซงต์-แม็กซิแม็ง เสิร์ฟให้กับ นิวคาสเซิ่ล อย่างไม่ได้ขาดในแต่ละสัปดาห์
"มันยอดเยี่ยมมากที่เราได้เห็นการเล่นของเขาด้วยตาตัวเองจากขอบสนาม" แกรี่ เนวิลล์ ว่าไว้ในครั้งหนึ่ง "ความเร็วและการเคลื่อนที่ของเขา มันคือการเล่นระดับที่น่าทึ่งจนใจเต้น ผมคืออดีตกองหลังพรีเมียร์ลีก เจอคู่แข่งมาเยอะ ทุกทีมจะมีนักเตะ 3-4 คนที่เด่นกว่าใครและคาดเดาการเล่นไม่ได้ ซึ่ง แซงต์-แม็กซิแม็ง ก็คือคนนั้น"
เหตุผลที่ต้องขาย
เล่นดี มีผลงาน แถมแฟนๆ ก็ให้การยอมรับอย่างเต็มที่ เสื้อขาวดำเบอร์ 10 ถูกขายออกไปเท่าไหร่ก็ไม่ทราบยอดที่แน่ชัด แต่เห็นได้ในแต่ละแมตช์เดย์ว่าเยอะ
เพียงแต่มันก็มาถึงจุดที่กำลังจะต้อง "ลาจาก" กันแล้ว
ตามรายงานล่าสุดจาก ฟาบริซิโอ โรมาโน่ ก็ประทับตรา HERE WE GO! ให้เป็นที่เรียบร้อย : อัลลัน แซงต์-แม็กซิแม็ง "บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับ อัล อาห์ลี แล้ว รวมถึงตรวจร่างกายขั้นแรกแล้วเช่นกัน" โดยทุกฝ่ายกำลังทำให้เอกสารทุกอย่างเรียบร้อย ซึ่งเมื่อลุล่วงด้วยดีแล้ว ตัวริมเส้นฝรั่งเศสก็จะเข้าไปร่วมงานกับ ริยาด มาห์เรซ, โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ และ เอดูอาร์ เมนดี้ ภายใต้สัญญาถึง 2026
ไม่ใช่แค่คนกลางอย่างเราที่แปลกใจ บรรดา ทูน อาร์มี่ จำนวนไม่น้อยก็ออกจะงงๆ กับดีลนี้ เมื่ออย่างน้อย แซงต์-แม็กซิแม็ง คือหนึ่งในสมาชิกทีมชุดตีตั๋ว ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หนแรกในรอบ 20 ปี และแข้งคุณภาพระดับนี้ มีติดทีมไว้ก็ดีกว่าปล่อยไปอยู่แล้ว
บางเหตุผลที่ เอ๊ดดี้ ฮาว เลือกจะปล่อยไป ว่ากันว่ามีประมาณ 2-3 ข้อด้วยกัน
1. โรคเดี้ยง
ในซีซั่นที่ผ่านมาซึ่ง นิวคาสเซิ่ล ประสบความสำเร็จเกินคาด แซงต์-แม็กซิแม็ง กลับมีผลงานด้อยกว่าเพื่อนร่วมทีมหลายคน สถิติฟ้องว่าเขายิงได้แค่ 1 ประตูถ้วน กับแอสซิสต์แค่ 5 ลูก พร้อมกับมีปัญหาบาดเจ็บแฮมสตริงเป็นระยะ โดยมีการเก็บสถิติว่า เขาพลาดลงสนามไปถึง 13 นัดในทุกรายการ เพราะบาดเจ็บ
2. แท็กติกของ ฮาว
แท็กติกของ เอ๊ดดี้ ฮาว ที่ไม่ได้มี แซงต์-แม็กซิแม็ง เป็นคีย์แมน โดยมีหลายเกมที่ อเล็กซานเดอร์ อิซัค ถูกถ่างออกริมเส้น เพื่อเล่นร่วมกับตัวเป้าอย่าง คัลลั่ม วิลสัน โดยที่ก็มี มิเกล อัลมิรอน อยู่อีกฝั่ง จนในจำนวนนัดที่ปีกฝรั่งเศสได้เล่นเกมพรีเมียร์ลีก ซีซั่นที่ผ่านมา 26 นัด เขาได้เป็นตัวจริงแค่ 12 เกมเท่านั้นเอง
3. FFP
สำคัญสุดก็คือเรื่องนี้ เมื่อแม้ว่าเจ้าของทีมสาลิกาอย่าง PIF - Public Investment Fund จะไม่ได้บ้าเลือดเหมือนที่ ท็อดด์ โบห์ลี่ จ่าย 500 ล้านปอนด์ลงตลาดให้กับ เชลซี แต่ว่านับตั้งแต่ที่เข้ามา (ต.ค. 2021) ก็ทุ่มเงินไปไม่น้อยเหมือนกันในแต่ละหน้าตลาด เรื่องนี้ เอ๊ดดี้ ฮาว เผยไว้ชัดเจนว่าเขาจำเป็นจะต้อง "ขายใครบางคน" ออกไปบ้าง เพื่อสร้างสมดุลให้เข้าเกณฑ์ FFP หลังจากซัมเมอร์นี้ก็ควักแล้ว 93 ล้านปอนด์ เป็นค่าตัว ซานโดร โตนาลี่ (55) กับ ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์ (38)
กระเป๋าซ้ายย้ายไปกระเป๋าขวา
ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น ทำให้เกิดข้อสรุปว่า แซงต์-แม็กซิแม็ง กำลังจะกลายเป็นดาวเตะคนใหม่ของ อัล-อาห์ลี ภายในอย่างเร็วที่สุดวันนี้วันพรุ่ง
มีการเปิดเผยรายละเอียดการเงินของดีลนี้ เอาไว้ว่าประกอบด้วย
- • ค่าตัว 30 ล้านปอนด์ / 35 ล้านยูโร
• ค่าเหนื่อย 150,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์
• แม้จะเทียบไม่ได้กับที่ มาห์เรซ ฟันยับ 8.5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ แต่ก็เป็นการอัพค่าจ้างขึ้นมหาศาลของแข้งวัย 26 จากที่เดิมรับกับ นิวคาสเซิ่ล แค่วีกละ 38,000 ปอนด์
อย่างไรก็ตาม ที่เป็นที่พูดถึงและถูกเพ่งเล็ง ก็คือการย้ายทีมครั้งนี้ เข้าข่าย "อัฐยายซื้อขนมยาย" หรือไม่ก็ "กระเป๋าซ้ายย้ายไปกระเป๋าขวา"
เพราะ นิวคาสเซิ่ล ที่มี PIF เป็นเจ้าของ (ถือหุ้น 80%) ปล่อยขาย แซงต์-แม็กซิแม็ง ให้กับ อัล-อาห์ลี ที่มี PIF เป็นเจ้าของ (ถือหุ้น 75%) นั่นเอง
PIF (กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย) : ยืนยันเมื่อเดือน มิ.ย. ถึงการเข้าเป็นเจ้าของสโมสรใน โปรลีก ซาอุฯ พร้อมกันถึง 4 ราย ทั้ง อัล-อาห์ลี, อัล-อิตติฮัด, อัล-นาสเซอร์ และ อัล-ฮิลาล โดยถือหุ้นสโมสรละ 75%
เท่ากับการย้ายค่ายของ แซงต์-แม็กซิแม็ง ก็เป็นแค่การเปลี่ยนต้นสังกัด เปลี่ยนประเทศ ย้ายที่ทำกิน แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เขายังคงมี "นายใหญ่" คนเดิมอย่าง PIF
และเงินก้อน 30 ล้านปอนด์ที่ถูกโอนข้ามประเทศ ไม่ได้มีความหมายอะไรจริงๆ นอกจากแค่ให้ผ่านเกณฑ์ FFP เท่านั้นเอง
โทษที...นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่
อย่างไรก็ตาม การจะตั้งคำถามว่า ที่ นิวคาสเซิ่ล ขาย แซงต์-แม็กซิแม็ง ให้กับทีมซาอุฯ ในเครือเดียวกันนั้น เป็นเรื่องผิดหรือไม่อย่างไร
ก็ควรต้องตีธงไปว่า "ไม่ผิด" ด้วยเพราะ...
1. เจ้าของเดียวกัน แต่แยกทีมกันบริหาร
PIF ยืนยันไว้ตั้งแต่การเข้าเทกโอเวอร์ 4 สโมสรยักษ์ใหญ่ในซาอุฯ แล้วว่า "คณะทำงานหรือบอร์ดบริหารของแต่ละสโมสร จะเป็นคนละชุดกัน" อีกทั้งยังจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ที่ก็เป็นคนละชุดผู้บริหาร เช่นเดียวกัน
2. ก็ไม่ได้ห้ามนี่หว่า
ทีมพี่ซื้อจากทีมน้อง ทีมน้องขอยืมจากทีมพี่ แล้วไง ในเมื่อไม่ได้มีการตรากฎห้ามเอาไว้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งว่า ไม่ได้มีการสั่งห้ามให้กลุ่มทุนใดก็ตามเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลมากกว่า 1 แห่ง ที่สุดแล้วเมื่อเกิดเคสลักษณะนี้ขึ้นมาจริง ก็ช่วยไม่ได้ เมื่อไม่ได้นับเป็นความผิดอันใดในทางเทคนิค
3. ไม่ใช่เรื่องใหม่
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การย้ายตัวลักษณะนี้ อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยของฟุตบอลอังกฤษ เมื่อมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้วทั้งกับ วัตฟอร์ด และแม้แต่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้
วัตฟอร์ด : มีเจ้าของเป็น "ตระกูลปอซโซ่" อันเป็นเจ้าของเดียวกับทาง อูดิเนเซ่ ที่ผ่านมาจึงเกิดการย้ายทีมไปมาระหว่าง 2 สโมสรนี้อย่างสม่ำเสมอ เช่น เคราร์ด เดโลเฟอู, โรแบร์โต้ เปเรย์ร่า, อิกนาซิโอ ปุสเซ็ตโต้, ซาเมียร์, ไอแซ็ก ซักเซส, อดัม มาซิน่า ฯลฯ
แมนฯ ซิตี้ : อยู่ในการดูแลของ "ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป" ที่มาจากการร่วมทุนกันของ 3 ประเทศ (ยูเออี, สหรัฐฯ, จีน) เพื่อสร้างเครือข่ายโยงใยสโมสรฟุตบอลทั่วโลก ทั้ง แมนฯ ซิตี้, นิวยอร์ก ซิตี้, เมลเบิร์น ซิตี้, ทรัวส์, ปาแลร์โม่, บาเอีย ฯลฯ และก็มีตัวที่ถูกดึงจากทีมลูกให้มาขึ้นยานแม่ในแมนเชสเตอร์ ทั้ง อารอน มอย, แจ๊ค แฮร์ริสัน หรือ ดาเนียล อาร์ซานี่
ส่วนถ้าพ้นไปจาก พรีเมียร์ลีก ก็ยิ่งหนักเลยกับกลุ่ม "กระทิงแดง" (ออสเตรีย) ที่ควบคุมบรรดาสโมสร เร้ดบูลล์ ทั้งหลายแหล่...ต้องถามว่ามีปีไหนบ้างที่ไม่เกิดการซื้อขายย้ายตัวนักเตะในเครือข่ายนี้
สุดท้ายท้ายสุด ไม่ว่าการย้ายของ แซงต์-แม็กซิแม็ง จะเข้าข่ายอัฐยายซื้อขนมยาย หรือกระเป๋าซ้ายย้ายไปกระเป๋าขวา แต่ก็ไม่ควรถือว่าเป็นความผิดบาปประการใด และก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรทั้งสิ้นกับ นิวคาสเซิ่ล หรือกับฟุตบอลอังกฤษเช่นกัน
และที่สำคัญคือ ไม่ได้โกงกันอย่างหน้าด้านๆ พลิกกระดานยัดเยียดให้ผู้ชนะกลายร่างเป็นผู้แพ้เสียเฉยๆ เหมือน "อย่างอื่น" เสียด้วย!