เพราะที่นี่คือ "แอนฟิลด์” ! ควันหลงหลังเกมสุดมันส์ระดับ 5 ดาว ลิเวอร์พูล เจ๊า อาร์เซนอล - FEATURE
อาร์เซนอล จบเกมที่แอนฟิลด์ในแบบที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย กับหนึ่งคะแนนที่ได้รับ เกมที่หนึ่งคะแนนนี้ไม่มากพอต่อความรู้สึกของใครหลายคน เพราะเมื่อคุณนำห่าง 2 ประตู ในช่วง 30 นาทีแรก คุณก็หวังเห็นสามคะแนนกลับออกมาจากสนามเหย้าของลิเวอร์พูลเป็นครั้งแรกของทัพปืนใหญ่นับจากฤดูกาล 2012-2013
ลิเวอร์พูล 2 – 2 อาร์เซนอล เป็นอีกเกมที่จบด้วยการยิงประตูมากกว่าสามประตูในเกมนี้ เพียงแต่ครั้งนี้จบด้วยการ “แบ่งกันยิง” ไม่ใช่ “ยิงอยู่ข้างเดียว” แบบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามว่ากันด้วยเรื่องของรูปเกมแบ่งกันไปคนละครึ่ง บนเสียงวิจารณ์กรรมการของเกมนี้ที่ปล่อยให้เกมหนักแบบไม่จำเป็น และการตัดสินที่ค้านสายตาในหลายจังหวะของทั้งสองทีม โดยเฉพาะทีมเยือน
อาร์เซนอล จัดทัพใหญ่มาเล่นในเกมนี้ขาดหลัก ๆ เพียง วิลเลี่ยม ซาลิบา เพียงคนเดียวเท่านั้นนอกนั้นทั้ง เอ็ดดี้ เอนเคเธีย, ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ และ โมฮาเหม็ด เอลเนนี่ พวกนี้เป็นสำรองอยู่แล้ว มาในระบบ 4-2-3-1 ในเกมรับ แต่สุดท้ายเกมนี้จบด้วยการยืนในระบบ 3 กองหลัง
รูปเกมของอาร์เซนอลในครึ่งแรกทำได้ดีมากในการเชื่อมเกมจากหลังไปหน้า พวกเขาเล่นกันอย่างรู้ใจ รู้จังหวะ และกำลังมั่นใจ สวนทางกับ ลิเวอร์พูล ในฤดูกาลนี้ พวกเขาไม่ได้อยู่ในฟอร์มที่ดีที่สุดของตัวเอง โดยเฉพาะกับแนวรับที่มีปัญหามาโดยตลอด เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ - อิบราฮิม โกนาเต้ ว่ากันตามชื่อชั้นของคู่นี้ น่าเกรงขามไม่น้อยกว่าคู่ไหน และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สองคนนี้มีผลกับเกมอย่างยิ่ง
ฟาน ไดจ์ ในวัย 31 ปี ถูกตั้งคำถามมาแทบตลอดซีซั่นถึงคุณภาพส่วนตัว และความผิดพลาดในรายละเอียดการเล่นของเขาที่ห่างจากวันที่ดีที่สุดของเขาไปมาก และเกมนี้สองประตูที่เสียไป เขามีส่วนร่วมทั้งสองประตู ทั้งประตูแรกที่สกัดบอลมาเข้าเข้ามาร์ติเนลลี่ และประตูที่สองที่ยืนห่างจาก กาเบรียล เฆซุส ได้โหม่งเน้น ๆ ไม่มีเหลือ 45 นาทีแรกของ ฟาน ไดจ์ คือโดนสับเละ ก่อนจะกลับมาได้บ้างในครึ่งหลัง ที่ลิเวอร์พูล ได้บุกกดดันแทบทั้งครึ่ง
โกนาเต้ กับการเล่นเกมนี้ที่เล่นได้อย่างดุดัน ตัดจังหวะเกมรุกอาร์เซนอลได้หลายต่อหลายครั้ง เป็นหัวใจหลักในแนวรับของทีม บนข้อเท็จจริงที่ว่า การเข้าบอลหนักของเขาหลายต่อหลายครั้งได้รับการปราณีจากผู้ตัดสิน ที่วันนี้ได้แจกใบเหลืองให้กับแนวรับลิเวอร์พูลทุกคนยกเว้นเขา
อาร์เซนอล มี 45 นาทีแรกเหมือนฝัน นำก่อนสองประตู ลิเวอร์พูล ก็ดูจะไม่หือไม่อืออะไรมากเท่าไรนัก แต่เมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น นำมาซึ่งประตูแรกของเกมนี้เกิดขึ้น
“แอนฟิลด์” ก็เริ่มทำหน้าที่ของสนามแห่งนี้ สนามที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นรกทีมเยือน”
บรรยากาศหลังการเสียประตูแรกที่มาจากการที่ ลิเวอร์พูล สามารถขึงเกมได้ประมาณ 3-4 เพลย์ ก่อนที่จะจบด้วยการเจาะริมเส้นด้านข้าง และเปิดหลุดเข้ามาตรงกลาง จังหวะนี้จะด้วยความบังเอิญ หรือตั้งใจของ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กับการต่อบอลไปอีกจังหวะแบบสุดเหยียดของเขา กลายเป็นมาเข้าทาง โม ซาลาห์ ที่สอดมาด้านหลัง กาเบรียล มากัญเยส ยิงเข้าไป
ฟุตบอลมีคำว่า “โมเมนตัม” เป็นสิ่งที่ทุกทีมอยากได้มากในเกมแถมเป็นสิ่งที่ว่าได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ เพราะมันพร้อมหลุดมือไปได้ทุกเมื่อ อาร์เซนอลเสีย โมเมนตัมของเกมไปตั้งแต่นาทีนั้นจนกระทั่งจบเกม
การตามหลัง 0-2 กับ 1-2 ก่อนพักครึ่งเวลา ความรู้สึกต่างกันหลายเท่าในแง่ของความรู้สึก
“มันเป็นเกมที่ดุเดือดมาก เราเริ่มต้นเกมได้อย่างยอดเยี่ยม ครอบครองเกมได้ ทำได้ในแบบที่เราต้องการ ยิงประตูได้ก่อน และเล่นในแบบที่เราต้องการ ยิงประตูที่สองของเกมนี้ได้ และนั่นคือช่วงเวลาที่เราต้องปิดเกม แต่หลังจากนั้นก่อนจบครึ่งแรก เราไปปล่อยให้พวกเขามีความหวัง เราเสียประตู และพวกเขากลับมามีความเชื่อมั่นในบรรยากาศของสนามที่สุดยอดยิ่ง” อาร์เตต้า กล่าวหลังเกมนี้จบลง
ครึ่งหลัง ลิเวอร์พูล กลับมาเป็นลิเวอร์พูลในแบบที่พวกเขาเป็นมาตลอด 2-3 ฤดูกาลหลัง พวกเขาสามารถควบคุมเกมได้แทบทั้งหมด การขึงเกมรุกต่อเนื่อง ครอบครองเกมได้นานหลายนาทีในบางจังหวะ พวกเขาใช้โมเมนตัมได้อย่างเต็มที่
การได้จุดโทษในช่วงต้นครึ่งหลัง ควรเป็นช่วงเวลาที่ โมเมนตัม ของพวกเขาพีคที่สุด แต่มันก็เกือบเป็นการหักมุมในเวลาเดียวกัน เมื่อจุดโทษของ ซาลาห์ หลุดกรอบออกไป แทนที่ อาร์เซนอล จะดึงโมเมนตัมกลับมาสู่เกมได้ แต่ก็ไม่เป็นแบบนั้น เกมนี้เราไม่ได้พูดถึงว่า แท็คติกการเล่นของอาร์เซนอล ผิดหรือไม่ผิด แต่เรามองที่ว่าเมื่อนักเตะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง หรือกดดันใครดูแลจัดการตัวเองได้ดีกว่ากัน
ครึ่งแรกลิเวอร์พูล เล่นอย่างไม่มั่นใจ เล่นพลาดพวกเขาเสียสองประตู ครึ่งหลังอาร์เซนอลก็เป็นแบบเดียวกัน และพวกเขาเกือบไม่มีคะแนนกลับออกมา
ผู้เขียนเคยกล่าวหลายครั้งผ่านบทความว่า ฟุตบอลคือเรื่องของ “หัวใจ” “ความสามารถ” “ความเป็นทีม” และ “แผน” บนพื้นฐานที่ทำงานร่วมกันของโค้ช และนักเตะในสนาม
ถ้าวัดกันที่ “หัวใจ” ทั้งสองทีมมีหลายช่วงเวลาที่เสียความมั่นใจ แต่สุดท้าย ลิเวอร์พูล ทวงสิ่งที่เสียไปกลับมาได้ทันเวลา ส่วนอาร์เซนอล รักษามันไว้ไม่ได้
ถ้าวัดกันที่ “ความสามารถ” อาร์เซนอลไม่ได้ด้อยกว่าลิเวอร์พูล
ถ้าวัดกันที่ “ความเป็นทีม” อาร์เซนอล เล่นเป็นทีมไม่ต่างจากลิเวอร์พูล
ถ้าวัดกันที่ “แผน” อาร์เซนอลดีแค่ครึ่งเดียว เลวร้ายตลอด 45 นาทีที่เหลือ
มิเคล อาร์เตต้า ในครึ่งหลังถูกวิจารณ์แน่นอนกับการตัดสินใจของเขา โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้เกมที่ไม่สามารถดึงเอาโมเมนตัมของเกมออกมาได้ ทำได้เพียงรอโอกาสสวนกลับ แต่ก็ดันไม่คมพอจะสร้างโอกาสให้อลิสซอนต้องลำบากอะไรอีกในครึ่งหลัง ตรงข้ามกับ อารอน แรมสเดล ที่งานชุกชุมและทุกคนเห็นตรงกันว่า ไม่มีเซฟของแรมสเดลที่ระบุว่าอย่างน้อย 4 ครั้งแบบจะแจ้ง อาร์เซนอล กลับบ้านมือเปล่าไปแล้ว
การเปลี่ยนตัว
ในขณะที่เกมตามหลัง 1-2 ลิเวอร์พูล ขึงเกมรุกได้อยู่หมัด พวกเขาเอา ติอาโก้ ลงมาเพิ่มคนออกบอลไปข้างหน้า เพิ่ม ดาร์วิน นูนเยซ ที่มีความปราดเปรียวลงไปเพิ่ม 15 นาทีผ่านไป ทีมยังยิงไม่ได้…เติม โรเบร์โต้ ฟีร์มิโน่ ลงไปอีกคน ถอดกองกลางออกด้วย วัดใจเพื่อแลกหมัด ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนตัวคนแรกของ อาร์เซนอล ในเกมนี้
อาร์เซนอล เลือกถอด เฆซุส - เออเดการ์ด ออกจากสนาม ใส่ ทรอตซาร์ ยืนกองหน้า เอา คิวิออร์ ลงมาเป็นกองหลังตัวกลาง ปรับระบบการเล่นเป็นสามกองหลัง
ทีมหนึ่งเพิ่มเกมรุกในระบบเดิม ทีมหนึ่งเพิ่มเกมรับแบบเปลี่ยนระบบการเล่นในช่วงโค้งสำคัญ ในแง่ของกำลังใจ ความฮึกเหิม วัดกันการเปลี่ยนตัว ผู้เขียนเป็นแฟนบอลอาร์เซนอล ก็รู้ว่า “ทีมไม่อยากเสียประตู” ในขณะที่เพื่อนแฟนหงส์แดงที่คุยกันในโลกออนไลน์ระหว่างชมเกม ระบุเลย “ทีมกูพร้อมเทหมดหน้าตัก” ความรู้สึกตรงนี้มันก็ต่างกันแล้ว ในสนามไม่ต้องพูดถึง สีหน้านักเตะอาร์เซนอล บ่งบอกเลยว่า งานหนักมากแน่อีก 10 นาทีที่เหลือ
อาร์เตต้า มีปัญหาหนึ่งที่เจอมาในฤดูกาลนี้ และเขาค่อนข้างฝังใจพอสมควร คือเรื่องการเปลี่ยนตัวที่มักจะกะจังหวะเวลาในการเปลี่ยนไม่ดีนัก บางเกมเปลี่ยนแล้วโมเมนตัมเกมที่สูสี กลายเป็นเสียเปรียบไปเลย ยิ่งช่วงการเปลี่ยนที่ต้องเปลี่ยนระบบการเล่นในเวลาเดียวกันด้วยแล้ว ทีมต้องการเวลาสักหน่อยในการปรับความเข้าใจแผนในสนาม + เกมยิ่งกดดันแทบตายอยู่แล้ว หน้าที่ก็ต้องเปลี่ยน คู่แข่งแม่มก็มาไม่มีพักเลย นักเตะหนึ่งคน ก็คนหนึ่งคน ทำงานกันแบบ Multi-Task พร้อมกันสมาธิเสียก็เป็นเรื่องปกติเกิดขึ้นได้
การเปลี่ยนคิวิออร์ลงมานับว่าเป็นการเปลี่ยนตัวที่ค่อนข้างเสี่ยงบนความเข้าใจได้ในมุมของผู้เขียน ในเมื่อคิดจะเปลี่ยนเป็นกองหลังตัวกลางสามคน กองหลังโปแลนด์ เป็นกองหลังตัวกลางที่มีประสบกาณ์ระดับชาติคนเดียวข้างสนาม ในวันที่ไม่มีซาลิบา ดังนั้นเขาถูกเลือกลงสนามจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เขาก็ลงเล่นเป็นเกมที่สองในลีกเท่านั้นในเกมนี้ และว่ากันที่ข้อมูลล้วน ๆ เขาแทบไม่ได้มีส่วนอะไรกับเกมเท่าไรด้วยในช่วงเวลาในสนาม
ในช่วงเวลาที่กดดัน อาร์เซนอล เลือกปรับด้วยวิธีการเพื่อหวังจะให้ทีมประคองตัวไปให้รอดฝั่ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนเพื่อเป็นการขู่คู่แข่งว่า “อย่าบุกมาเยอะกว่านี้ไม่งั้นมึงโดน” การเปลี่ยนตัวของ อาร์เซนอล ไม่ได้สร้างอิมแพคอะไร นอกจากได้คนที่ร่างกายดีกว่าลงไปทดแทน เกมรับไม่ได้เหนียวแน่นขึ้น (บนเหตุว่าเพราะสุดท้ายก็ยังเสียประตู แถมโดนล่อเป้าอีกหลายครั้งช่วงท้าย) แถมจะสวนกลับก็คุณภาพลดลงไปมาก เพราะโดนขึงมันตลอดครึ่งหลัง ตัวรุกใช้กำลังไปกับการเล่นช่วยเกมรับก็มาก
โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ เป็นหนึ่งคนที่มองว่าเกมนี้ทีมไม่สามารถใช้ประโยชน์ของเขาได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลจากรูปเกมที่ออกมา นักเตะที่ถูกแฟนบอลระบุว่า “กองเชียร์ที่เล่นฟุตบอลได้นิดหน่อย” หรือ “แบ็คที่เล่นกองกลางได้นิดหน่อย” วันนี้ทำให้แฟนบอลเห็นเลยว่า การปรับตำแหน่งของเขาจากกองกลางมาเล่นเป็นแบ็คซ้าย เกมรับของเขาก็ยังคงมีปัญหา ยิ่งวันนี้ Invert Full back ฟังก์ชั่นพิเศษของเขา 45 นาทีหลัง แทบไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้เลย เขาก็ยิ่งกลายเป็นแบ็คแทบทั้งเกม และลองนึกสภาพว่าต้องเจอกับ แนวรุกกำลังมั่นหน้ามั่นโหนกในเกมนี้ของลิเวอร์พูล แถมเจอกับ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ฟูลแบ็คที่บุกโหดที่สุด (เกมรับก็บ่อน้ำมันเหมือนกัน) เติมเกมกดเข้าใส่มาเรื่อย ๆ สุดท้ายก็พลาดจริง ๆ แล้วพลาดแบบจะแจ้งเดียวของเขานำมาซึ่งการเสียประตูตีเสมอ
สิ่งที่ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวคือเมื่อพลาดแล้ว อาร์เตต้า กลับเลือกถอดเขาออกทันที และส่ง คีแรน เทียร์นีย์ ลงไปแทน กลายเป็นตอกย้ำความผิดหวังของ ซินเชนโก้ ไปเลย เพราะเขาหมดโอกาสแก้ตัวในเกมนี้แล้ว มันเป็นเหตุบังเอิญที่จังหวะ “อะไรจะลงตัวแบบนั้น” มากเกินไปหน่อย ในแง่ของความรู้สึกของผู้เล่น แววตาของเขาและภาษากายหลังลงไปนั่งข้างสนามบ่งบอกชัดเจน
กรรมการ
พอล เทียร์นีย์ ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นญาติกับฟูลแบ็คสกอตแลนด์ เป่าฟาลว์ในเกมนี้ 22 ครั้ง แจก 8 ใบเหลือง โดนกันไปฝั่งละ 4 ใบ แต่ถ้าใครที่ได้ชมในเกมนี้จะเห็นได้ว่า หลายจังหวะมากในเกมนี้ที่เป็นการปล่อยเกมของกรรมการชาวอังกฤษ ซึ่งทำให้มีผลต่อรูปเกมค่อนข้างชัดเจน
“มาตรฐานของกรรมการ” ในการตัดสินแต่ละเกมจะเป็นการบอกเป็นนัยให้กับนักเตะในสนามรู้ว่า พวกเขาทำอะไรได้มากแค่ไหน กรรมการคนนี้ “เฮี๊ยบ” มากแค่ไหน ที่สำคัญกรรมการทันเกมหรือเปล่า วันนี้การตัดสินของกรรมการอาจไม่มีผลในจังหวะสำคัญ จุดโทษที่เป่าในเกมนี้ก็ค่อนข้างชัดเจน แต่ระหว่างเกมการเข้าบอลหนักบางครั้งปล่อยผ่าน บางครั้งก็แม่นกฎแบบแม่นมากทั้งที่เป็นการฟาลว์ครั้งแรกของผู้เล่นคนนั้น ดังนั้นเกมมันจึงมีความรุนแรงมากขึ้นแบบไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิบราฮิม โกนาเต้ ที่สุดท้ายคือคนเดียวในแนวรับลิเวอร์พูลที่ไม่มีใบเหลืองติดตัว การเล่นของเขาก็ยังสามารถเล่นได้แบบเดิมต่อไป สวนทางกับ เบน ไวท์ ที่เมื่อโดนใบเหลืองไปแล้ว ไวท์ เจอแรงกดดันเข้าใส่ทันที ทุกครั้งที่เข้าบอล 50:50 หรือไม่ชัวร์ เขาจะไม่เข้าบอลเลย ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
“แอนฟิลด์” ยังคงเป็นสนามที่เป็นของสแลงสำหรับทัพปืนใหญ่ ที่ตอกย้ำว่าต่อให้อาร์เซนอลฟอร์มดีจากไหนมาก็ตามที่นี่ไม่เคยง่ายสำหรับพวกเขา และเป็นหนึ่งเกมที่แฟนลิเวอร์พูลคงพอใจกับฟอร์มของทีมรักตนเอง ที่แม้ปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบากแต่ก็ทำให้เห็นว่าในรังของตนเองนักเตะของพวกเขายังถวายหัวใจลงเล่นตามเสียงเชียร์ของแฟนบอลแบบสู้ขาดใจได้เสมอ
หนึ่งคะแนนในเกมนี้ ไม่น่าพอใจนักสำหรับลิเวอร์พูล และก็ไม่ได้น่าพอใจสำหรับอาร์เซนอล เพราะสถานการณ์ลุ้นแชมป์ของทัพปืนใหญ่ สั่นคลอนอีกครั้ง และต้องติดตามต่อไปว่าทั้งสองทีมจะเก็บบทเรียนของการทำงานวันนี้ เอาไปใช้ในช่วงที่เหลือของฤดูกาลได้อย่างไร
ผ่านเกมยากไปอีกหนึ่งเกมเรียบร้อย แต่งานยากยังคงมีอีกเพียบรอคอยอยู่