ซีซั่นใหม่ อะไรๆ ยังเหมือนเดิม : เปิดจุดตาย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ยังคงเรื้อรังและแก้ไม่ตก - FEATURE

• แพ้ อาร์เซน่อล ในเกมลุ้นระทึก 1-3 เมื่อวันอาทิตย์
• เท่ากับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แพ้รวด 2 เกมเยือนซีซั่นนี้
• นี่คือจุดสลบขั้นเรื้อรังที่ เอริค เทน ฮาก ยังแก้ไม่ตกจนวันนี้
TOPSHOT-FBL-ENG-PR-ARSENAL-MAN UTD
TOPSHOT-FBL-ENG-PR-ARSENAL-MAN UTD / GLYN KIRK/GettyImages
facebooktwitterreddit

เป็นเรื่องที่เห็นชัดกันมาตั้งแต่ฤดูกาลก่อน 2022/23 ว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แข็งโป้กในบ้าน แต่กลับอ่อนปวกเปียกเสมอยามต้องออกไปเป็นทีมเยือน สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ เอริค เทน ฮาก ไม่อาจหลบเลี่ยงได้พ้น โดยเฉพาะว่ามันลุกลามมาถึงซีซั่นใหม่นี้แล้วด้วย ที่ 2 เกมเยือนแรกสุด ล้วนแต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ และนี่คือการชี้ชัดให้เห็นทะลุปรุโปร่งอีกครั้ง ถึงปัญหาเรื้อรังคงเดิมของปีศาจแดง

ภูมิแพ้เกมเยือน

  • แพ้ เบรนท์ฟอร์ด 0-4

    ชนะ เซาแธมป์ตัน 1-0

    ชนะ เลสเตอร์ 1-0

    แพ้ แมนฯ ซิตี้ 3-6

    ชนะ เอฟเวอร์ตัน 2-1

    เสมอ เชลซี 1-1

    แพ้ แอสตัน วิลล่า 1-3

    ชนะ ฟูแล่ม 2-1

    ชนะ วูล์ฟส์ 1-0

    เสมอ คริสตัล พาเลซ 1-1

    แพ้ อาร์เซน่อล 2-3

    ชนะ ลีดส์ 2-0

    แพ้ ลิเวอร์พูล 0-7

    แพ้ นิวคาสเซิ่ล 0-2

    ชนะ ฟอเรสต์ 2-0

    เสมอ สเปอร์ส 2-2

    แพ้ ไบรท์ตัน 0-1

    แพ้ เวสต์แฮม 0-1

    ชนะ บอร์นมัธ 1-0

    แพ้ สเปอร์ส 0-2

    แพ้ อาร์เซน่อล 1-3

ถ้าการเปลี่ยนจาก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็น เดวิด มอยส์ คือจุดเปลี่ยนแรกสุดที่ทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ตุปัดตุเป๋หันเหจากฝั่งออกสู่ท้องทะเลแล้ว การเลือกจิ้ม "กุนซือที่ไม่ใช่กุนซือ" ราล์ฟ รังนิค มานั่งเก้าอี้ในระหว่างซีซั่น 2021/22 ก็คงเป็นเสมือนการคว้าพ่อค้าที่ไหนก็ไม่รู้มาสวมบทกัปตันเรือ ที่ไม่ใช่แค่พาออกนอกกระแสคลื่นลม แต่ยังมุ่งตรงเข้าป่าดงพงไพรไปเสีย

จุดเริ่มต้นของ "ภูมิแพ้นอกบ้าน" สำหรับ แมนฯ ยูไนเต็ด เริ่มต้นขึ้นในยุค รังนิค นี่เอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ทำงานในส่วนนี้เอาไว้ยอดเยี่ยมเลย (แม้ไม่มีแชมป์ใดทั้งสิ้น) เมื่อปรากฏว่าตลอดซีซั่น 2020/21 ของ พรีเมียร์ลีก ที่ โซลชา นั่งเก้าอี้เป็นซีซั่นที่ 3 ของตัวเองนั้น แมนฯ ยูไนเต็ด มีสถิติแพ้นอกบ้านเป็น 0

ย้ำ แพ้นอกบ้านเป็น 0 -- จาก 19 เกมเยือนพรีเมียร์ลีก แมนยูของโค้ชนอร์วีเจี้ยน ชนะ 12 เสมอ 7 ไม่แพ้ใครแม้แต่เกมเดียว (จุดอ่อนกลายเป็น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด รีสอร์ท & สปา ที่ชนะแค่ 9 จาก 19 เกม)

จนเมื่อเปลี่ยนเป็น รังนิค ในซีซั่น 2021/22 นั่นแหละ แผลจุดนี้ถึงได้เกิดขึ้น และลุกลามเรื้อรังมาจนวันนี้ โดยเริ่มในช่วงปลายซีซั่น (ก่อนโค้ชเยอรมันโดนปลด) ที่แพ้นัดเยือนติดต่อกันถึง 6 นัดซ้อน เริ่มที่การออกโดน แมนฯ ซิตี้ ยิงยับ 4-1 ต่อด้วย 0-1 เอฟเวอร์ตัน, 0-4 ลิเวอร์พูล, 1-3 อาร์เซน่อล, 0-4 ไบรท์ตัน และ 0-1 คริสตัล พาเลซ จนเข้าป้ายอันดับ 6 ในฐานะซีซั่นอันน่าลืมเลือน

เมื่อ เอริค เทน ฮาก มาสานงานต่อ โรคนี้ก็ไม่ถูกสะสาง เริ่มกันตั้งแต่เกมเยือนนัดแรกของซีซั่นเลยด้วยซ้ำ ที่สวมชุดเขียวอ่อนออกไปโดนผึ้งต่อย แพ้ เบรนท์ฟอร์ด เละเทะ 0-4

ให้หลัง มันอาจมีเกมที่ฮึดชนะได้บ้าง สลับเสมอบ้าง ออกไปโดน แมนฯ ซิตี้ ยิงครึ่งโหลบ้าง โดน ลิเวอร์พูล 7-0 บ้าง ก่อนที่สุดท้าย บทสรุปจะออกมาว่า แมนฯ ยูไนเต็ด แพ้ถึง 8 จาก 19 เกมเยือนของ 2022/23

เทียบกับทีมอื่นๆ อาจไม่เลวร้ายนัก แมนฯ ยูไนเต็ด ทำดีเป็นอันดับ 5 ของผลงานเกมเยือน ด้วยการมี 27 แต้ม เหนือกว่าพวก ลิเวอร์พูล, สเปอร์ส หรือ เชลซี

แต่ครั้นเมื่อเทียบกับ "ผลงานเกมเหย้า" ของตัวเองแล้ว จะเจอความแตกต่างอย่างมหาศาล 27:48 แต้ม หรือก็คือเมื่อเล่นในบ้านแล้ว แมนยู หลุดแพ้แค่เกมเดียวถ้วนๆ เท่านั้นเอง (เกมเปิดซีซั่น แพ้ ไบรท์ตัน 1-2)

มาถึงซีซั่นนี้ แง่หนึ่งอาจต้องยอมรับว่า โปรแกรมเยือน 2 นัดแรก ไม่ง่าย และ เทน ฮาก ยืนกรานเสียงแข็งว่า โชคดวงไม่เข้าข้าง ผู้ตัดสินเป่าไม่เข้าทาง พวกเขาควรได้จุดโทษแฮนด์บอล เกมกับ สเปอร์ส จากนั้นก็ควรได้จุดโทษอีกเช่นกันในช็อตที่ ราสมุส ฮอยลุนด์ โดนเหนี่ยวล้ม อีกทั้งจังหวะทะลุเดี่ยวเข้าไปส่องตุงตาข่ายของ อเลฮานโดร การ์นาโช่ ก็ไม่ล้ำหน้าในสายตาเขาด้วย

แต่แพ้ก็คือแพ้ แพ้แบบดูไม่ค่อยได้ต่อ สเปอร์ส 0-2 และแพ้แบบลุ้นกันใจสั่นต่อ อาร์เซน่อล 1-3

นั่นคือ 2 เกมเยือนแรกสุดของซีซั่นใหม่นี้ แมนยู ออกสตาร์ทด้วยการแพ้รวด

และถ้านับรวมผลงานจากซีซั่นก่อนด้วย ก็เท่ากับ แมนยู ของ เทน ฮาก ชนะแค่ 3 เท่านั้นจาก 12 เกมเยือนหลังสุด (พรีเมียร์ลีก) ที่เหลือเสมอ 2 และแพ้รัวๆ ถึง 7 เกมด้วยกัน

Marcus Rashford, Aaron Wan-Bissaka, Gabriel Martinelli
Arsenal FC v Manchester United - Premier League / Robin Jones/GettyImages

สำคัญคือเกมใหญ่

  • 2021/22

    แพ้ เลสเตอร์ 2-4

    ชนะ สเปอร์ส 3-0

    เสมอ เชลซี 1-1

    แพ้ แมนฯ ซิตี้ 1-4

    แพ้ ลิเวอร์พูล 0-4

    แพ้ อาร์เซน่อล 1-3
  • 2022/23

    แพ้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 3-6

    เสมอ เชลซี 1-1

    แพ้ อาร์เซน่อล 2-3

    แพ้ ลิเวอร์พูล 0-7

    แพ้ นิวคาสเซิ่ล 0-2

    เสมอ สเปอร์ส 2-2

    แพ้ ไบรท์ตัน 0-1
  • 2023/24

    แพ้ สเปอร์ส 0-2

    แพ้ อาร์เซน่อล 1-3

สิ่งสำคัญของ "ภูมิแพ้นอกบ้าน" ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออันดับตารางของ แมนฯ ยูไนเต็ด นั้นก็คือผลงานการออกไปเล่นเป็นทีมเยือน เจอกับบรรดาของแข็งหัวตาราง หรือทีมใหญ่--ที่แม้ว่าซีซั่นนั้นๆ จะไม่ได้มีปีที่ดีก็ตาม

เกมใหญ่เหล่านี้ แม้ในข้อเท็จจริงจะมี 3 แต้มเป็นผลตอบแทน แต่ในหลายๆ โอกาสมันก็คือเกมที่มี "6 แต้ม" เป็นเดิมพัน ด้วยผลที่จะส่งอิทธิพลโดยตรงต่อทั้งกับตัวเองและคู่แข่ง

ก็อะไรเหล่านี้นี่แหละ คือสิ่งที่ แมนยู ไปไม่เป็นอย่างสิ้นเชิง

ชัดเจนกับ 2 เกมแรกของซีซั่นนี้ ที่แพ้แล้วต่อทั้ง สเปอร์ส และ อาร์เซน่อล

ส่วนเมื่อย้อนไปซีซั่นก่อน ก็น่าสนใจอย่างยิ่งว่าปีศาจแดงของ เทน ฮาก "ไม่ชนะเลย" ในการออกไปเล่นที่ เอติฮัด สเตเดี้ยม, เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม, แอนฟิลด์ หรือแม้กระทั่งที่ สแตมฟอร์ด บริดจ์ อย่างที่ร่ายผลเอาไว้แล้วข้างต้น -- เสมอ 2 (1-1 เชลซี, 2-2 สเปอร์ส) นอกนั้นแพ้ทั้งหมด

เช่นกัน ถอยไปถึงซีซั่น 2021/22 ของ โซลชา / รังนิค ก็เริ่มแสดงอาการนี้ให้เห็นแล้ว ที่มีเกมบุกชนะ สเปอร์ส 3-0 นัดเดียว กับออกไปยันเสมอ เชลซี 1-1 นอกนั้นยกขบวนเอา 3 แต้มไปประเคนให้คู่แข่งทีมใหญ่ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคงหมายความว่า แมนยู มี "ข้อด้อย" ในเรื่องนี้ ตั้งแต่ก่อนที่ เทน ฮาก จะเข้ามาแล้ว และกุนซือดัตช์ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จนวันนี้

ซึ่งเมื่ออะไรเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากเข้า มันก็จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกต่อไป

มันอาจเป็นเรื่องของแท็กติก เรื่องของความผิดพลาดระหว่างเกม เรื่องของทัศนคติ หรือเรื่องของโชคดวงที่ไม่เข้าข้าง

ไม่ว่าจะอะไร ก็ล้วนแต่เป็นการบ้านที่ เทน ฮาก ต้องปรับแก้ให้จงได้

ถ้าทำไม่สำเร็จ แชมป์พรีเมียร์ลีกที่ตามหา ก็จะเป็นเส้นขนานอยู่ต่อไป

Aaron Wan-Bissaka
Arsenal FC v Manchester United - Premier League / Robin Jones/GettyImages

อะไรรออยู่หลังเบรคทีมชาติ

  • 16/09 เหย้า ไบรท์ตัน

    20/09 เยือน บาเยิร์น มิวนิค (ชปล.)

    23/09 เยือน เบิร์นลี่ย์

    26/09 เหย้า คริสตัล พาเลซ (บาวคัพ)

    20/09 เหย้า คริสตัล พาเลซ

    03/10 เหย้า กาลาตาซาราย (ชปล.)

    07/10 เหย้า เบรนท์ฟอร์ด

หลังจากเริ่มต้นซีซั่นใหม่ด้วยคิวหนักๆ ไปแล้ว สิ่งที่รอ แมนฯ ยูไนเต็ด อยู่ในช่วงที่เหลือของเดือน ก.ย. หลังเบรคทีมชาติงวดนี้ และก่อนถึงเบรคทีมชาติงวดหน้า ถือว่า "ไม่หนักเท่า" โดยเฉพาะว่าเกมเยือนที่เป็นปัญหาเรื้อรัง มีแค่ต้องบุกเตะ เบิร์นลี่ย์ น้องใหม่ที่ยังตั้งลำไม่ถูกของ แว็งซ็องต์ ก็องปานี นัดเดียวเท่านั้นเอง

ส่วนคิวเยือน บาเยิร์น มิวนิค ของ แฮร์รี่ เคน ไม่ต้องนับก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเหย้าจะเยือน แมนยู ก็เป็นรองสุดกู่อยู่แล้ว แอ่แฮ่!

สำคัญก็คือใน พรีเมียร์ลีก นั่นแหละ ที่เดือนนี้และต้นเดือนหน้า จะได้เฝ้าฐาน โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เก็บแต้มให้ชุ่มปอดสะใจ--หากยังคงมาตรฐานของการเล่นในบ้านได้ดีเป็นพิเศษเหมือนเดิม

ขณะที่เกมเยือน เบิร์นลี่ย์ ถ้าไม่เล่นแย่กันไปเอง แมนยู ก็ยังดูมีภาษีดีกว่าในการคว้าชัย

และในระยะยาว ก็ดูว่าโปรแกรมค่อนข้างเอื้อให้ แมนยู ไม่ต้องเจอเกมใหญ่นอกบ้านแบบรัวๆ ในช่วงใดช่วงหนึ่ง เช่นว่าจะเจอ ลิเวอร์พูล ที่แอนฟิลด์ กลางเดือน ธ.ค. ค่อยข้ามไปเยือน เอติฮัด สเตเดี้ยม ของทัพเรือ แมนฯ ซิตี้ มี.ค. ปีหน้า หรือเจอ เชลซี ที่ สแตมฟอร์ด บริดจ์ ต้นเดือน เม.ย. โน่นเลย

แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อถึงเกมสำคัญเหล่านี้, หรือกระทั่งคิวเยือนทุกนัดก่อนหน้า, ถ้า เทน ฮาก ยังสะสาง "แผลเก่า" โรคร้ายเรื้อรังไม่สำเร็จ ก็อาจไม่พ้นที่ซีซั่นนี้จะออกรูปเดิม

ย้ำอีกทีก็ได้... ถ้าทำไม่สำเร็จ แชมป์ลีกสมัย 21 ก็ไม่มีวันเกิดขึ้น

FBL-ENG-PR-ARSENAL-MAN UTD
FBL-ENG-PR-ARSENAL-MAN UTD / GLYN KIRK/GettyImages