นาทีที่รอคอย…ประตูชัยของนักล่าฝันแห่ง อาร์เซนอล - FEATURE

Arsenal FC v AFC Bournemouth - Premier League
Arsenal FC v AFC Bournemouth - Premier League / Julian Finney/GettyImages
facebooktwitterreddit

ชัยชนะในค่ำคืนที่ เอมิเรตส์ สเตเดี้ยมของ อาร์เซนอล เหนือบอร์นมัธ 3-2 ไม่ใช่แต่เพียงสามคะแนนที่ทำให้พวกเขาครองบัลลังก์จ่าฝูง พรีเมียร์ลีก ต่อไป ในเกมที่ไม่ควรจะยากเย็นแต่สุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในเกมยากที่สุดของฤดูกาลนี้

ก่อนเกมจะเริ่มต้นขึ้น บอร์นมัธ มาเยือนอาร์เซนอล เหล่าสาวกปืนใหญ่ต่างมองคู่แข่งว่าเป็น “ผลเชอร์รี่” แสนหวานไม่มีใครคิดว่ามันจะเกือบติดคอตายได้เช่นนี้ ลูกทีมของ แกรี่ โอนีล อยู่ในสถานการณ์ของการลุ้นหนีตกชั้น มาเยือนอาร์เซนอลที่ต้องการไล่ล่าความสำเร็จในช่วงที่เหลือของฤดูกาลนี้ ที่สุดท้ายจบลงด้วยช่วงเวลาที่เรียกว่า “นาทีบาป” ของทีมเยือน และ “นาทีชีวิต” ของเจ้าบ้าน

9.11 วินาที กลายเป็นสถิติใหม่ของการยิงประตูที่เร็วที่สุดในฤดูกาลนี้ และมันเกิดขึ้นในเกมนี้จากจังหวะการเตะเขี่ยเริ่มเกมที่ บอร์นมัธ เขี่ยเร็ว และเปิดออกทางขวาและกลายเป็นประตู

อูตาร่า ดาโก้ ปีกไอวอรีโคสต์ตัวใหม่ของพวกเขาได้บอลทางขวา อาร์เซนอลสามคนเข้าไปรุมประกบจังหวะนี้ การยืนกลายเป็น “สองกลุ่ม” ของผู้เล่นอาร์เซนอล และมีช่องว่างใหญ่ตรงกลาง ก่อนดาโก้จะเปิดบอลให้​โซลันกี้ วิ่งโฉบเข้ามาหาบอล และคีย์พอนต์ของจังหวะนี้คือตรงจุดนี้

โซลันกี้ ดึงความสนใจของกาเบรียลตามตนเองขึ้นไป ขณะที่ฟิลิป บิลลิ่ง เติมมาจากกองกลางวิ่งสอดมากลางประตู ลูกนี้ถ้าดูจากเพลย์จะเห็นว่า ซาลิบา มองไม่เห็น บิลลิ่งวิ่งขึ้นมา ขณะที่ ปาเตย์ดักด้านหน้าของบิลลิ่งเอาไว้ ทั้งหมดนับจากการออกบอลของดาโก้ เกิดขึ้นเพียง 1-2 วินาทีนั้น กลายเป็นการ “คาดเดาผิดพลาดทั้งหมด” ของ 4 จาก 5 ผู้เล่น (โซลันกี้, กาเบรียล, ปาเตย์, ซาลิบา) เพราะไม่มีใครเข้าถึงบอลสักคนเดียว มีเพียงบิลลิ่งที่วิ่งขึ้นมาในจังหวะลงล็อคและยิงเหน่ง ๆ ระยะหกหลาเข้าไป ลูกนี้เป็นความผิดพลาดจากการอ่านจังหวะบอลของแนวรับที่ส่งผลต่อการเสียประตู ส่วนแนวรุกอ่านจังหวะพลาดก็แค่เสียดาย…

ประตูนี้ผิดแผนทุกอย่างของอาร์เซนอลทันที คล้ายกับเกมที่พบกับแอสตัน วิลล่า นี่คือการเสียประตูในช่วง 5 นาทีแรกเป็นครั้งที่สองในฤดูกาลนี้ และพวกเขาเล่นฟุตบอลตาม “สัญชาตญาณ” นั่นคือการเล่นเกมรุกทันที ขณะที่ บอร์นมัธ ได้ประตูแล้วที่เหลือคือ “ตามแผน”

Philip Billing
Arsenal FC v AFC Bournemouth - Premier League / Julian Finney/GettyImages

บอร์นมัธ ศึกษาการเล่นของอาร์เซนอลมาอย่างแน่นอน “คัมภีร์เกมรับ” ที่ได้รับช่วงต่อมาจาก นิวคาสเซิ่ล, เอฟเวอร์ตัน, เบรนท์ฟอร์ด ถูกนำออกมาใช้อย่างมีวินัย การเล่นเกมรับสองชั้น มีตัวด้านข้างความเร็วสูงคล่องตัว และที่สำคัญมากคือกองหน้าตัวเป้าพวกเขาทำงานได้ดี โดมินิค โซลันกี้ เป็นหนึ่งในคนที่ผลงานเด่นไม่แพ้กับฟิลลิป บิลลิ่ง ที่นอกจากทำประตูแล้ว การเคลื่อนที่ของกองกลางเดนมาร์กก็ช่วยเกมได้เยอะมากในการตัดต่อลำเลียงบอลของอาร์เซนอล

วิธีคิดการเล่นเกมรับของ บอร์นมัธ ต่างจากของเอฟเวอร์ตันตรงที่ว่า เอฟเวอร์ตัน ใช้การบีบพื้นที่ตรงกลางสนาม และเปิดช่องให้อาร์เซนอลมีทางเลือกขึ้นเกมเพียงทางเดียว ต่อจากนั้นใช้การขยับของทั้งทีมรุมเข้าขย้ำ แต่ที่พวกเขาแพ้เพราะเกมรับพวกเขาไม่ละเอียดและเสียประตูแรกของเกม ทำให้แผนเลยแตกในที่สุด ตรงข้ามกับ บอร์นมัธ พวกเขาอาจวางแผนมาแบบเดียวกัน แต่การได้ประตูเร็วมากทำให้พวกเขาไม่ต้องเสี่ยงมากนัก ขอแค่เกมรับแน่น ขอแค่มีวินัย ใช้แท็คติกการเล่นที่ปั่นประสาทนักเตะอาร์เซนอลให้ได้มากที่สุดก็มากพอจะยั้งเกมของปืนใหญ่เอาไว้ได้

“อารมณ์ร้ายกาจยิ่งกว่าอาวุธ” และ “สติมาปัญญาเกิด” เป็นสองคำที่นิยามเกมของอาร์เซนอลได้ดี

อาร์เซนอลกับการตามหลังหนึ่งประตู พวกเขาเหมือนคนที่ขับรถด้วยความมึนเมา ไม่มีสติในการยั้งคิดในการตัดสินใจ รู้แต่ว่าต้องการได้ประตูคืนให้เร็วที่สุด การเล่นของทีมจึงกลายเป็นการเล่นที่ตัดสินใจบนพื้นฐานของการยิงประตูให้ได้ มากกว่าเน้นความแน่นอนในการเข้าทำ หลายจังหวะวันนี้เราจะได้เห็น มาร์ติน เออเดการ์ด ยิงหน้าเขตโทษหลายครั้ง ได้เห็นความพยายามในการฝืนไปเองของมาร์ติเนลลี่ และอีกหลายจังหวะที่พวกเขาเสียความเป็นตัวเอง เพราะการเร่งเกมเพื่อการยิงประตู ขณะที่ บอร์นมัธ พื้นที่ก็มีให้พวกเขาเล่นจากความผิดพลาด และหากไม่มีการเซฟของ อารอน แรมสเดล ในจังหวะสำคัญเกมอาจตามหลังไปไกลกว่าเดิม

Martin Odegaard
Arsenal FC v AFC Bournemouth - Premier League / Julian Finney/GettyImages

เมื่อพวกเขาเร่งเกมความผิดพลาดก็เกิดง่ายขึ้น กอปรกับ บอร์นมัธ ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม “มึงยิ่งเร่งกูยิ่งไม่รีบ” พวกเขาพร้อมที่จะเล่นช้าลงในทุกจังหวะที่อำนวย พร้อมลงไปนอนเจ็บในจังหวะที่อาร์เซนอลกำลังเร่งเกมได้ต่อเนื่อง หรือกระทั่ง เนโต้ นายทวารของพวกเขาก็ไม่คิดจะรีบเตะเปิดบอลในทันที เราจะได้เห็นสารพัด “ภาษากาย” ที่ไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดนอกจากทำให้ทุกอย่างมันช้าลงได้สัก 1-2 วินาทีเท่านั้น แต่แค่นั้นในความรู้สึกผู้ตามมันก็นานมากแล้ว

การเล่นเกมรุกด้วยอารมณ์ของอาร์เซนอล เล่นอย่างมั่นใจ + อารมณ์อยากเอาคืน กลายเป็นรวนและสุดท้ายออกจาก 45 นาทีแรกด้วยการตามหลัง

เริ่มครึ่งหลัง อาร์เซนอล เปลี่ยน ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ออกจากสนามส่งเบน ไวท์ ลงมาแทน นี่คือการเปลี่ยนตามแท็คติกครั้งแรกของเกม หลังจากการเปลี่ยนตัวแรกของพวกเขาคือการเปลี่ยน เลอันโดร ทรอตซาร์ ที่ยบาดเจ็บ และส่ง เอมิล สมิธ โรว์ ลงมาแทนที่ พวกเขายังคงขับรถเร็วอย่างบ้าคลั่งต่อไป เปิดเกมรุกเข้าหา ขณะที่ บอร์นมัธ เริ่มมั่นใจขึ้น แท็คติกของพวกเขาชัดเจน และมาได้ประตูที่สอง จากความผิดพลาดของอาร์เซนอลอีกครั้ง

ประตูที่สองของเกมกับการเล่นลูกเตะมุมครั้งแรก ๆ ของบอร์นมัธ เกิดจากความผิดพลาดในการประกบตัว มาร์กอส เซเนซี่ แนวรับอาร์เจนติน่า ที่ไม่มีนักเตะอาร์เซนอลคนไหน ใกล้เขาเลย การยืนประกบคู่ผิดพลาดอีกครั้งอย่างน่าผิดหวัง เมื่อผู้เล่น 7 คนของอาร์เซนอลไม่รวมนายทวารในพื้นที่ระยะบริเวณ 6 หลา ไม่สามารถหยุด 4 ผู้เล่นของทีมเยือนเอาไว้ได้

โธมัส ปาเตย์ คือคนที่ต้องเข้าประกบ เซเนซี่ โดยพื้นที่และระยะใกล้ที่สุด แต่เขายืนประกบห่างเกินไป และเมื่อบอลลอยมาถึง “จุดนัดพบ” ปาเตย์ ก็ตามเซเนซี่ไม่ทัน กลายเป็นได้โหม่งเต็มแรงไม่มีเหลือ

Thomas Partey
Arsenal FC v AFC Bournemouth - Premier League / Shaun Botterill/GettyImages

57 นาที ตามหลังสองประตู แต่สิ่งที่อาร์เซนอลเหมือนจะได้กลับมาคือ “สติ”

ในช่วงเวลา 57-62 ที่เกิดประตูแรก อาร์เซนอล ลดการเร่งเกมลง ไม่ฝืนแบบตะบี้ตะบัน แต่เริ่มกลับมาใช้ระบบในการนำทางการเล่นของตนเอง เพราะไม่ว่าจะตามหลัง 1 หรือว่า 2 ประตู อาร์เซนอล ไม่เคยเสียการครองเกมนี้เลย เพียงแต่ยิงประตูไม่ได้เท่านั้น ขณะที่ บอร์นมัธ ก็ไม่คิดจะเล่นแบบอื่นแล้ว ดังนั้นปัจจัยหลักอยู่ที่อาร์เซนอล จะเข้าทำได้อย่างไร และเมือพวกเขาเริ่มสงบใจลง บอร์นมัธ ก็พลาดบ้าง และมันกลายเป็นประตู

จากจังหวะเตะมุม ซาก้า เปิดได้ดีทั้งแรง และกดดันให้ เนโต้ ไม่กล้ารับ ทำได้แค่เพียงชกทิ้ง ซึ่งมันดีไม่พอ เพราะมันลอยอยู่ในเขตโทษ จังหวะนี้ สมิธ โรว์ ที่รอบอลอยู่ด้านนอกวิ่งเข้ามาเล่นได้ก่อนใคร กระโดดโหม่งย้อนทางไปยังพื้นที่ว่าง จังหวะนี้จะเห็นได้เลยว่า แนวรับบอร์นมัธ จัดระบบการยืนไม่ทัน ผู้เล่นจำนวนมากกลายเป็นไม่มีประโยชน์ในการเล่น ไม่ได้ประกบใคร บอลลอยมาถึง ปาเตย์ ที่ได้แก้ตัวจากการทำพลาด วิ่งเข้าไปยิงเต็มแรง บอลโดนตัวเนโต้แต่ก็แรงพอจะเข้าประตู

การได้ประตูนี้ของอาร์เซนอลคือการกลับมาสู่เกมอย่างมีสติ และได้โมเมนตัมในแบบที่พวกเขาเสียไปตั้งแต่ 9.11 วินาทีแรกของเกม

การเสียประตูทำให้บอร์นมัธ พยายามเร่งเกมขึ้น พวกเขามองหาโอกาสจากความฮึกเหิมของอาร์เซนอล และเล่นเกมสวนกลับ ซึ่งวันนี้ต้องบอกว่าเกมรับอาร์เซนอลผิดพลาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในการประกบ โซลันกี้ ซึ่งมีส่วนกับเกมอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามฟุตบอลเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และการเปลี่ยนตัว เอมิล สมิธ โรว์ ออก และเลือกส่ง รีส เนลสัน ลงสนามคือการเดิมพันที่ถูกต้องของ มิเคล อาร์เตต้า

“ผมคิดว่าเอมิลมีอิมแพคที่ดีต่อเกม แต่ในท้ายที่สุดผมรู้สึกว่าผมต้องการอะไรที่มันแตกต่าง โดยเฉพาะเกมทางซ้ายที่ต้องการให้มีแรงกดดันมากขึ้น นั่นคือเหตุผลในการเลือกส่งเนลสันลงเล่น” อาร์เตต้า แจงเหตุผลในการเปลี่ยนตัวครั้งสำคัญ

เพียงไม่กี่นาทีหลังการเปลี่ยนตัว เนลสันก็กลายเป็นส่วนสำคัญของประตูตีเสมอที่ทำให้ทุกอย่างเข้ามาอยู่ในมืออาร์เซนอลแบบเต็มตัว โดยมี ปาเตย์ ที่มีส่วนร่วมกับประตูนี้อีกครั้ง

Ben White
Arsenal FC v AFC Bournemouth - Premier League / Shaun Botterill/GettyImages

ประตูตีเสมอ 2-2 เกิดในช่วงที่อาร์เซนอลขึงเกมรุก เจอกับแนวรับบอร์นมัธ ที่เริ่มเสียสมาธิจากการเสียประตูแรก การเล่นเกมรับจำนวนถึง 8 หรือว่า 9 คน มากในแง่ของปริมาณ แต่มันจะได้ผลก็ต่อเมื่อพวกเขารักษาวินัยเอาไว้ได้ตลอดเกมหรือเปล่า คล้ายในเกมกับเอฟเวอร์ตัน ที่พวกเขาทำได้เพียง 40 นาทีในเกมนั้น

ปาเตย์ได้บอลกลางสนามมีจังหวะดึงหลอกกองกลางคู่แข่งหนึ่งจังหวะ “เปิดกำแพงชั้นที่หนึ่ง” ก่อนที่เห็นได้ว่า อาร์เซนอล ดันเกมรุกหน้าไลน์สูงสุดถึง 5 คนในจังหวะนี้ เบน ไวท์ แบ็คขวา สลับตำแหน่งกับ ซาก้า ก่อนที่ เนลสัน จะได้บอลและเปิดบอลเข้ากลางในพื้นที่ซึ่งจะเห็นว่า แนวรับบอร์นมัธ พะวงกับพื้นที่กลางเขตโทษมากเกินไปจนกลายเป็นการแปยิงจ่อ ๆ ของเบน ไวท์ ที่แม้ว่า เนโต้ จะปัดออกมาได้แต่บอลก็ข้ามเส้นไปทั้งลูกแล้ว

ในวันที่พวกเขาผิดพลาดอะไรมามาก อาร์เซนอล ใช้พลังแทบทั้งหมดไปมากกว่า 70 นาที ที่พวกเขาวิ่งไปไม่ต่างจากคนเล่นมาจนจบเกม แต่สิ่งที่ยกระดับการเล่นของเกมนี้อย่างมากคือเรื่องของ ความอยากเป็นผู้ชนะในเกมนี้ของพวกเขา

ช่วงท้ายเกม บอร์นมัธ ยังไม่คิดจะเปลี่ยนแท็คติกใด ๆ ด้วยข้อจำกัดทั้งในเรื่องของศักยภาพ และรูปเกม นี่คือความต่างระหว่างทีมใหญ่ และทีมเล็ก เมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญ กำลังสำรองของบอร์นมัธ ไม่สามารถดึงช่วงเวลาของเกมกลับมาที่ทีมได้ ขณะที่อาร์เซนอลเดิมพันทุกอย่าง เลือกส่ง กรานิท ชาก้า ลงสนามมาแทนที่ ฟาบิโอ วิเอร่า และทำให้การขึงเกมของอาร์เซนอลทำได้แน่นยิ่งกว่าเดิม

“32” คือจำนวนโอกาสที่อาร์เซนอลสร้างขึ้นในเกมนี้ มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าวันนี้พวกเขาไม่ชนะ แต่แล้วเด็กอายุ “23” ปี ทำให้พวกเขาสมหวัง

Reiss Nelson, Emile Smith Rowe
Arsenal FC v AFC Bournemouth - Premier League / James Williamson - AMA/GettyImages

รีส เนลสัน (23 ปี สัญญาถึงกลางปี 2023) เข้ามาอยู่กับอาร์เซนอลตอนอายุ 7 ขวบ พัฒนาตัวเองมาเรื่อย หวังที่จะได้เล่นทีมขุดใหญ่สักวันหนึ่ง ในปี 2019 มันน่าจะเป็นช่วงที่ดีสำหรับเขาเมื่อเขาได้รับโอกาสมากขึ้นหลังกลับมาจาก ฮอฟเฟ่นไฮม์ ในแบบยืมตัว แต่แล้วโอกาสที่ควรเข้ามาถูกพรากไปด้วยอาการบาดเจ็บ หลายต่อหลายครั้ง  บนวัย 23 ปี เขาถูกรุ่นน้องอย่าง บูคาโย่ ซาก้า แซงหน้าไปไกล ได้เห็นร่วมรุ่นอย่าง เอมิล สมิธ โรว์ ใส่เบอร์ 10 ของสโมสร ในขณะที่ตนเองออกไปผจญภัยในต่างแดนมาแล้วถึงสองครั้ง และกลับมาเพื่อรอโอกาส ปีนี้มันน่าจะเป็นปีที่ดี เขายิงแฮตทริคได้ในทีมชุดใหญ่ เริ่มมีโอกาสมากขึ้น แต่สุดท้ายอาการบาดเจ็บทำให้เขาต้องกลับมาเริ่มใหม่ รอโอกาสใหม่ และวันนี้โอกาสมันก็มาถึงอีกครั้ง…เขาทำได้

คนเรามีช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่เพียงครั้งเดียวก็มากพอแล้วช่วงเวลาที่จะยิ่งใหญ่ในใจตนเอง

I want one moment in time
When I'm more than I thought I could be
When all of my dreams are a heartbeat away
And the answers are all up to me
Give me one moment in time
When I'm racing with destiny
Then in that one moment of time
I will feel
I will feel eternity

บทเพลงของ วิทนีย์ ฮุสตัน น่าจะเหมาะสมสำหรับเขาในวันนี้ ประตูชัยที่เขาบอกกับเราว่า เขาแค่ยิงมันออกไปแล้วมองมันลอยเข้าประตู ที่เหลือคือรอบตัวที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งแห่งความดีใจ และมันจะอยู่ในความทรงจำของเขาและทุกคนที่เป็นแฟนอาร์เซนอลไปอีกนาน

ชัยชนะในเกมนี้ทำให้อาร์เซนอล อยู่บนเส้นทางของการลุ้นแชมป์เหลือบันได้อีก 12 ขั้นสุดท้ายที่พวกเขาต้องเดินต่อไป เพื่อจะไปหาคำตอบว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เดินผ่านมาตลอดเส้นทางพวกเขาได้อะไรจากการเดินทางไกลครั้งนี้

ทุกอย่างอยู่ที่พวกเขา พวกเขากำหนดมันได้ด้วยตนเองแล้ว