7 ปีให้หลังแชมป์ปาฏิหาริย์ของ เลสเตอร์ หรือว่าจะถึงเวลาแยกทาง...ระหว่าง จิ้งจอกสยาม และ พรีเมียร์ลีก ? - FEATURE

Manchester City v Leicester City - Premier League
Manchester City v Leicester City - Premier League / Michael Regan/GettyImages
facebooktwitterreddit

งวดลงทุกขณะสำหรับ พรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่นอกจากการช่วงชิงแชมป์ของม้า 2 ตัว หรือการแย่งตั๋วยุโรปในอันดับต่างๆ แล้ว ประเด็นสำคัญสุดยังอยู่ที่การตกชั้นหรือไม่ตกชั้นของหลายๆ ทีมในโซนท้ายตาราง

โดยเฉพาะแชมป์เมื่อ 7 ปีที่แล้วอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้ เวลานี้พบตัวเองอยู่ในตำแหน่ง "รองบ๊วย" จนเริ่มจะต้องต่อสายให้น้ำเกลือกันแล้วหลังจากความพ่ายแพ้นัดล่าสุด

ลองไปดูกันว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา และความหวังของการรอดตาย ยังหลงเหลืออยู่สักกี่มากน้อย...

สูงสุดสู่จุดต่ำสุด

ไม่มีใครลืมลงได้แน่นอนกับผลงานมาสเตอร์พีซ ร้อยปีมีครั้งที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ฝากเอาไว้ให้กับ พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2015/16 ที่ทีมเล็กๆ จากตอนกลางของประเทศ ผู้ซึ่งเพิ่งกลับคืนสู่ลีกสูงสุดได้แค่ 2 ปี (และเกือบจะตกชั้นอย่างรวดเร็วมาแล้วด้วยซ้ำ) ดันโผล่ทะลุกลางปล้องแซงหน้าทุกยักษ์ใหญ่ขึ้นผงาดแชมป์ได้อย่างปาฏิหาริย์

แต่ก็แน่อยู่แล้วว่าด้วยความเซอร์ไพรส์ เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดจึงเป็นเรื่องปกติที่หลังจากนั้นจะมีแต่ "ถอยลง" -- เพียงแต่มาตรฐานดีๆ ก็ยังคงอยู่ในช่วงระยะหนึ่ง โดยเฉพาะหลังจากได้ตัว เบรนแดน ร็อดเจอร์ส เข้ากุมบังเหียน

สี่ปีหลังแชมป์ลีก (2019/20) เลสเตอร์ เข้าป้ายที่ 5 และถึงตัดเชือก คาราบาว คัพ

ห้าปีหลังแชมป์ลีก (2020/21) เลสเตอร์ ย้ำตำแหน่งที่ 5 และคว้าแชมป์สำคัญอีกรายการอย่าง เอฟเอ คัพ ด้วยประตูโทนของ ยูรี่ ตีเลมันส์ ที่ยิงสยบ เชลซี 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศ

หรือซีซั่นที่แล้ว (6 ปีหลังแชมป์ลีก) เลสเตอร์ ก็ยังคงทำได้ดี จบอันดับ 8 พรีเมียร์ลีก ชนิดที่ห่างจากโซนตีตั๋วยุโรปไปแค่ไม่กี่แต้ม

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนหมายความว่า ถัดจากแชมป์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นแล้ว เลสเตอร์ ก็ทำผลงานอยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด

จึงเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มากว่าซีซั่นนี้...

Leicester City v Everton - Premier League
Leicester City v Everton - Premier League / Michael Regan/GettyImages

ชะล่าใจเกินไป

กลายเป็นว่าทั้งสโมสร และ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ดูเหมือนจะ "ชะล่าใจเกินไป" กับการปล่อยให้ขุมกำลังนักเตะของพวกเขาก้าวเข้าสู่ช่วง "หมดอายุการใช้งาน" แล้วไม่ได้เสริมทัพปรับเปลี่ยนให้ตรงจุดมากพอ

ที่จริงก็เริ่มมาตั้งแต่ซีซั่นที่แล้ว ซัมเมอร์ 2021 ซึ่งแต่ละดีลล้วนแต่ออกทรงติดลบ เงินทุนหลายสิบล้านปอนด์ (50-60 ล้าน) ที่เทลงตลาดไป ได้ตัวใหม่มาอย่าง แพ็ตสัน ดาก้า, บูบาการี่ ซูมาเร่, ยานนิค เวสเตอร์การ์ด ที่ล้วนแต่สอบไม่ค่อยผ่าน

ครั้นมาซัมเมอร์นี้ที่ต้องรัดเข็มขัด (ได้ใหม่เช่น เวาท์ ฟาเอส, วิกเตอร์ คริสเตียนเซ่น, แฮร์รี่ ซุตตาร์ แต่ราคารวมกันไม่ถึงครึ่งของการขาย เวสลี่ย์ โฟฟาน่า ให้เชลซี) ก็ยังต้องมาย้ำแผลด้วยคุณภาพโดยรวมของขุมกำลังที่ "ด้อยลง" จากชุดก่อนๆ

  • - แดนนี่ วอร์ด ทดแทนการจากไปของ แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ไม่ได้

    - ปัญหาบาดเจ็บกระจัดกระจายในหลายนักเตะ

    - เจมส์ แมดดิสัน & ยูรี่ ตีเลมันส์ ไม่เฉิดฉายเหมือนปีเก่า

    - เจมี่ วาร์ดี้ เสื่อมสภาพตามวัย 36

    - เคเลชี่ อิเฮียนาโช่ & แพ็ตสัน ดาก้า คลาสไม่ถึง

นอกจากนั้น การยึดโยงให้ความเชื่อมั่นกับ ร็อดเจอร์ส เพื่อตอบแทนผลงานดีๆ และแชมป์ เอฟเอ คัพ ยังกลับกลายเป็นเข็มที่ย้อนทิ่มแทงพวกเขาเข้าโดยตรง

เพราะหากเป็นทีมอื่นที่เฮี้ยบกับเรื่องกุนซือหน่อย ร็อดเจอร์ส คงโดนเด้งตกเก้าอี้ไปแล้วตั้งแต่ 2 เดือนแรกของซีซั่น ที่เก็บได้ 1 แต้มถ้วนจาก 7 นัดแรก (เสมอ 1 แพ้ 6) หรืออย่างช้าก็ในช่วงรอยต่อขึ้นปีใหม่ ที่ทัพจิ้งจอกค่อยๆ คล้อยลงต่ำใกล้โซนแดงไปทีละน้อย

แต่สิ่งที่เป็นจริงคือ ร็อดเจอร์ส ถูกต่อเวลาทำทีมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงต้นเดือนนี้เอง ซึ่ง เลสเตอร์ จมลงสู่โซนแดงในอันดับ 18 เป็นที่เรียบร้อย

จนดูเหมือนว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ในที่สุดก็เกิดขึ้น อาจสายเกินไปที่จะพลิกฟื้นอะไรได้ทัน

Brendan Rodgers
Leicester City v Chelsea FC - Premier League / Michael Regan/GettyImages

เลือกทางผิด (?) ชีวิตเปลี่ยน

คงไม่ใช่เรื่องผิด และอันที่จริงก็ได้รับคำชมจากหลายฝ่าย กับการที่ คิง เพาเวอร์ ในยุคของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เน้นในเรื่องของการสร้าง "โครงสร้างพื้นฐาน" ให้กับสโมสรมากกว่า มีการลงทุนใหญ่นับร้อยล้านปอนด์ไปกับสนามซ้อมแห่งใหม่ สร้างระบบสาธารณูปโภค, ศูนย์ฟิตเนส, ระบบวิทยาศาสตร์การกีฬา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย

แต่การเน้นไปกับโครงสร้างจนดูหลงลืมที่จะลงทุนเรื่องนักเตะใหม่ ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก

ใช่อยู่ว่าพวกเขาไม่ได้ถึงกับละเลย การเสริมทัพในแต่ละหน้าตลาดก็ยังมี อย่างที่ได้เอ่ยถึงไปแล้วข้างต้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า เลสเตอร์ ไม่ได้ลงทุนไปกับนักเตะระดับ "ติดเกรด" มีราคา แบบที่ซื้อเข้ามาแล้วใช้ได้เลยทันที สามารถสร้างอิทธิพลกับการเล่นได้โดยใช้เวลาปรับตัวปรับใจไม่นาน

ที่เป็นคือการพยายามค้นหา เอ็นโกโล่ ก็องเต้ คนใหม่, ริยาด มาห์เรซ คนใหม่, เจมี่ วาร์ดี้ คนใหม่ หรือ แฮร์รี่ แม็กไกวร์ คนใหม่ -- ซึ่งหมายถึงนักเตะที่ดึงมาแล้วต้องใช้เวลาปลุกปั้นสักระยะ (ส่วนจะขายต่อหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง)

เมื่อความพยายามในส่วนนี้ไม่เกิดผล บวกกับปัจจัยเสื่อมต่างๆ ของขุมกำลัง (และโค้ช) แล้ว ความเสี่ยงของการ "ตกชั้น" จึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ออก

Wilfred Ndidi, Daniel Amartey
Leicester City v Brentford FC - Premier League / James Williamson - AMA/GettyImages

โค้ชใหม่ยังไร้ปาฏิหาริย์

หนึ่งคือเชื่องช้าในการปลด ร็อดเจอร์ส และยังมีสองคือ เชื่องช้ากว่าที่จะแต่งตั้งกุนซือรายใหม่เข้ามาดูแลทีม

ภายหลัง ร็อดเจอร์ส ถูกเชิญออกแล้ว เลสเตอร์ ใช้งานโค้ชคนในอย่าง ไมค์ สโตเวลล์ & อดัม แซดเลอร์ เป็นรักษาการกุนซือแบบคนคู่ พาทีมลงสนาม 2 นัด

...แพ้ แอสตัน วิลล่า 1-2 แบบโดนยิงปลิดชีพเฮือกท้าย (เบอร์ทรานด์ ตราโอเร่ น.87) และแพ้เกมสำคัญกับทีมหนีตายเช่นกันอย่าง บอร์นมัธ 0-1

จนก็เพิ่งจะเกมล่าสุดเมื่อวันเสาร์นี่เอง ที่ได้ ดีน สมิธ (เบรนท์ฟอร์ด, วิลล่า, นอริช) เข้ามาดูแลในฐานะรักษาการกุนซือ (เบื้องต้นจนจบซีซั่น) เป็นเกมแรกสุด

สมิธ เข้ามาพร้อมผู้ช่วยอย่าง เคร็ก เช็คสเปียร์ ผู้ซึ่งเป็นอดีตกุนซือเลสเตอร์เอง และ จอห์น เทอร์รี่ อดีตมือขวาคู่ใจตั้งแต่ช่วงคุม แอสตัน วิลล่า

แต่ก็อย่างที่คงเห็นกันแล้ว ในการบุกเตะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เอติฮัด ทัพจิ้งจอกมีช่วงทำได้ดีแค่ตอนท้ายๆ ที่มีลุ้นถึงตีเสมออยู่เหมือนกัน หลังจากที่ 25 นาทีแรกของเกม สกอร์ก็ถ่างกระจายเป็น 3-0 เข้าไปแล้ว

เมื่อนับรวมช่วงท้ายของ บี-ร็อด, ช่วงของกุนซือขัดตาทัพคนคู่ และช่วงแรกของ ดีน สมิธ แล้วนั้น จะเท่ากับว่า เลสเตอร์ เก็บได้แค่ "แต้มเดียวถ้วน" จากระยะ 9 นัดหลัง

  • แพ้ แมนฯ ยูไนเต็ด 0-3

    แพ้ อาร์เซน่อล 0-1

    แพ้ เซาแธมป์ตัน 0-1

    แพ้ เชลซี 1-3

    เสมอ เบรนท์ฟอร์ด 1-1

    แพ้ คริสตัล พาเลซ 1-2

    แพ้ แอสตัน วิลล่า 1-2

    แพ้ บอร์นมัธ 0-1

    แพ้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1-3

แต้มเดียวจาก 9 เกมหลัง ที่มาพร้อมผลพ่ายแพ้เป็นเกมที่ 20 จาก 31 นัด

นาทีนี้ เลสเตอร์ จึงจม "รองบ๊วย" เข้าไปแล้ว ด้วยตามหลังโซนปลอดภัย อันดับ 17 เอฟเวอร์ตัน 2 แต้ม

Dean Smith
Manchester City v Leicester City - Premier League / James Gill - Danehouse/GettyImages

7 นัดสุดท้ายชี้ชะตาจิ้งจอก

ตามหลังโซนปลอดภัย อันดับ 17 เอฟเวอร์ตัน 2 แต้ม ขณะเหลือเพียง 7 เกมสุดท้าย...

อันดับ

เตะ

แต้ม

15. เวสต์แฮม

30

31

16. ลีดส์

30

29

17. เอฟเวอร์ตัน

31

27

18. ฟอเรสต์

31

27

19. เลสเตอร์

31

25

20. เซาแธมป์ตัน

31

23

แม้ยังไม่แน่ไม่นอน ยังมีโอกาสฮึดโผล่พ้นน้ำ แต่ก็ชัดเจนว่า เลสเตอร์ ต้องประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" กันตั้งแต่ตอนนี้ และฝากความหวัง ฝากชีวิตไว้กับ ดีน สมิธ ที่ต้องคว้าผลการแข่งขันที่ดีให้ได้โดยเร็ว -- ไม่มีเวลาให้รีรออะไรอีกแล้ว

เมื่อโปรแกรมในช่วงสุดท้าย จะไม่มีเกมไหนง่ายและการันตีแต้มสำหรับพวกเขาทั้งนั้น

  • 22/04 เหย้า วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส

    25/04 เยือน ลีดส์ ยูไนเต็ด

    01/05 เหย้า เอฟเวอร์ตัน

    08/05 เหย้า ฟูแล่ม

    15/05 เหย้า ลิเวอร์พูล

    20/05 เยือน นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด

    28/05 เหย้า เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

สำคัญสุดคือ 3 เกมถัดไป ที่ต้องเจอกับทีมท้ายตารางเช่นเดียวกันอย่าง วูล์ฟส์, ลีดส์, เอฟเวอร์ตัน พวกนี้จัดเป็นเกมที่มีเดิมพัน "6 คะแนน" เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชนะ จะเป็นการตัดแต้มของคู่แข่งหนีตายด้วยกันโดยตรง

จากนั้นจะเจอ ฟูแล่ม ที่อาจเป็นงานง่ายสุดในบรรดาคิวที่เหลือ แต่ต่อจากนั้นอีกก็มีสิทธิ์จะเป็น "คิว 0 แต้ม" ได้ง่ายๆ เมื่อต้องเจอของแข็งอย่าง ลิเวอร์พูล และ นิวคาสเซิ่ล

เลสเตอร์ คงไม่ต้องชายตามอง ไม่ต้องสนใจผลงานของทีมรอบข้างให้เสียเวลา สิ่งที่ต้องโฟกัส แบบ fully focus 100% เต็ม ก็คือก้าวเดินของตัวเอง ผลของแต่ละเกมที่เหลือนับจากนี้

ทุกประตูที่ทำ ทุกแต้มที่ได้หรือไม่ได้ ล้วนแต่จะส่งผลกับฉากจบ

ตลกร้ายดีเหมือนกันว่า เลสเตอร์, ที่ 4 ปีหลังจากแชมป์ลีก เข้าป้ายที่ 5 และ 5 ปีหลังจากแชมป์ลีก มาได้ เอฟเอ คัพ อีกถ้วย, กลับต้องคาดหวังให้ตอนจบแบบ 2014/15 ที่เด้งตัวจากบ๊วยไปเข้าป้ายอันดับ 14 เกิดขึ้นซ้ำอีกสักครั้ง

หากไม่อยากให้ตอนจบสุดเศร้าเคล้าน้ำตาอย่าง "7 ปีหลังแชมป์ลีก เลสเตอร์ มีอันต้องตกชั้น" ปรากฏในท้ายที่สุด

Kelechi Iheanacho
Leicester City v AFC Bournemouth - Premier League / James Williamson - AMA/GettyImages