6 ปีอันว่างเปล่าของ เอฟเวอร์ตัน - FEATURE
พรีเมียร์ ลีก เสียผู้จัดการทีมในฤดูกาลนี้ไปอีกหนึ่งคน หลังการปลด ราฟาเอล เบนิเตซ (61 ปี) ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม เอฟเวอร์ตัน ทำให้ พวกเขาใช้ผู้จัดการทีมมากถึง 7 คน (แต่งตั้งถาวร 5 คน และชั่วคราว 2) ตลอดระยะเวลา 6 ปี และในจำนวน 5 คนที่ได้รับการแต่งตั้งถาวร เบนิเตซ คือคนที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด เพียง 22 เกม (ชนะ 7 เสมอ 5 แพ้ 10) รวมแล้วประมาณ 6 เดือนเท่านั้น
อีกเพียงหนึ่งเดือนจะครบ 6 ปีของการเข้ามาของ ฟาฮัด โมชิริ เจ้าของสโมสรคนปัจจุบัน ซึ่งเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งแรก ๆ ที่ทีมมีการเปลี่ยนแปลงคือการปลด โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ ออกจากทีม ในอีกสามเดือนต่อมา หลังจากนั้น “การเปลี่ยนโค้ช เดอะ ซีรีส์” ก็เริ่มต้นขึ้น ชื่อของ โรนัลด์ คูมัน, แซม อัลลาไดซ์, มาร์โก ซิลวา, คาร์โล อันเชลอตติ และ ราฟาเอล เบนิเตซ เดินเข้าสู่สโมสร และออกจากสโมสรไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่แทบทั้งหมดสังเวยผลงานของทีม โดยระหว่างนั้นมี เดวิด อันสเวิร์ท และ ดันแคน เฟอร์กูสัน อดีตตำนานของทีม มารับงานเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว และยังมีอีกสองผู้อำนวยการฟุตบอลที่ออกจากทีมไปแล้วนั่นก็คือ สตีฟ วอลช์ และ มาร์เซล บรันท์
2016-2017 ฤดูกาลแรกของ “ยุคใหม่” พวกเขาก็เริ่มต้นการเสริมทีม และเสริมหนักขึ้นเรื่อย ๆ นับดูแล้วในเวลา 6 ปี พวกเขาใช้เงินมากกว่า 500 ล้านปอนด์
พวกเขาเสริมทัพแบบซื้อขาดมากถึง 36 คน ไม่รวมที่มีการยืมนักเตะอีกไม่น้อยมาร่วมทีม สวนทางกับการขายผู้เล่นที่น้อยดีลมากที่พวกเขาจะได้กำไรจากสิ่งที่เสียไป ดีลของ จอห์น สโตนส์, โรเมลู ลูกากู, ฮาเมส โรดริเกวซ หรือว่าล่าสุดกับ ลูก้า ดีญ พวกเขาอาจได้เงินก้อน แต่คุ้มไหมกับสิ่งที่เสีย คำตอบคือ ตัวแทนของพวกเขาเหล่านั้นยังไม่ใช่ตัวแทนที่ดีนัก อาจจะงดเว้น โดมินิค คัลเวิร์ต-เลวิน ไว้สักคนที่น่าจะเป็นการลงทุนน้อย แต่คุ้มค่าแน่นอน ถ้าวันหนึ่งพวกเขาจะปล่อยออกไป
อย่างไรก็ตามในแง่ของผลงานสิ่งที่ได้กลับมาดีที่สุดคือ อันดับ 7 ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูกาลแรกของการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร และการลงทุนแบบหนักหน่วงต่อเนื่อง “ใช้เงินแก้ปัญหา”มาตลอดหลายปีถึงเวลานี้พวกเขาเริ่มมีปัญหาเรื่องของการเงินจากกฎ Financial Fair Play เข้าให้แล้ว และในฤดูกาลนี้จึงไม่แปลกที่การเสริมทีมในเดือนสิงหาคมถึงน้อยนิดมหาศาล สวนทางกับการปล่อยนักเตะอย่าง ฮาเมส โรดริเกวซ ออกจากทีมเพราะค่าเหนื่อยระดับ 250,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ มันมากเกินไปสำหรับพวกเขา
ผิดไหมที่ปลด ราฟาเอล เบนิเตซ หากมองในเรื่องการเสริมทีมที่มอบให้ และเวลาที่มอบให้เขาทำทีมก็ต้องบอกว่า “น้อยนิด” ทั้งสองส่วน ดีลตลาดมกราคมแทบไม่ต้องนับเพราะยังไม่ทันได้ใช้ก็บอกลากันแล้ว สิ่งที่ตลกกว่านั้นคือ 2 ธันวาคม 2021 โมชิริเพิ่งบอกกับสื่อว่า เขาจะไม่ปลด เบนิเตซ ออกจากทีมแน่นอน เพราะทีมปัญหาบาดเจ็บเยอะ ส่งผลต่อผลงาน และทีมจะเข้าสู่ตลาดการซื้อขายมกราคม และยังเชื่อด้วยว่าครึ่งฤดูกาลหลังทีมจะแกร่งขึ้น สุดท้ายแล้ว พวกเขาเสริมทีมจริง แต่นอกนั้นเป็นคำลวงทั้งหมด เพราะพวกเขาผลงานยังไม่ดีขึ้น และผู้จัดการทีมก็จากทีมไปอีกหนึ่งคนเรียบร้อย
ผู้จัดการทีม ไม่มีอะไรการันตีชีวิตได้ดีเท่ากับผลงานของทีม และการที่ตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2021 มาจนถึงวันที่ 16 มกราคม 2022 อันเป็นวันสิ้นสุดการทำงานของ เบนิเตซ กับเอฟเวอร์ตัน รวมแล้ว 13 เกมพรีเมียร์ ลีก พวกเขาชนะเพียง 1 เสมอเพียง 3 และแพ้ถึง 9 เกม มันก็หนักหน่วงพอที่จะต้องไป ยิ่งเกมล่าสุดความพ่ายแพ้ นอริช ซิตี้ ทีมที่ดูแล้ว “รอดยาก” ในพรีเมียร์ ลีก พวกเขายังกล้าแพ้ การตัดสินใจด้วย “อารมณ์เสียและเหตุผลมากพอ” เลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนได้
ยิ่งนับจากวันแรกที่ เบนิเตซ ไม่ได้รับการยอมรับจากแฟนบอลเอฟเวอร์ตันเท่าไรอยู่แล้ว โทษฐานเคยเป็นผู้จัดการทีม ลิเวอร์พูล ฟุตบอลคลับ มาก่อน และเคยพูดจาเฮงซวยใส่ทีมไว้สมัยนั้น ดังนั้น ยิ่งผลงานไม่ดี “เอฟเวอร์โตเนี่ยน” ก็ไม่เบาให้เขาอยู่แล้ว เพราะว่ากันตามจริง ไม่มีใครทนได้นานนักหรอกที่เห็นทีมแพ้ เข้าสนามไปดูทีมแพ้ เกมแรกไม่เป็นไร เกมต่อไปชักเริ่มผิดหวัง เกมที่สามตูจะไม่ทน เกมสี่แพ้อีกก็ด่าแม่มเลย! เป็นเรื่องปกติของแฟนส่วนมากในทุกวงการกีฬา
ยังไม่รวมถึงข่าววงในที่มีการพูดถึงการ “ล้วงลูก” ในการทำงานของ โมชิริ ที่มีต่อทีมงาน อย่างเช่นเรื่องของการเข้ามายุ่งกับการซื้อขาย หรือการแต่งตั้งผู้จัดการทีม ที่มีการพูดถึงแผนงานในระยะยาว แต่กลับเลือกผู้จัดการทีมอายุมาก ๆ อย่าง อันเชลอตติ หรืออย่าง เบนิเตซ เข้ามาคุมทีม ซึ่งถึงตรงนี้จริงหรือไม่ ผลงานการซื้อขาย และผลงานของทีมมันก็บ่งบอกด้วยตัวเองอยู่แล้ว
เอฟเวอร์ตัน อยู่ในช่วงเวลาที่เหมือนภายเรือในอ่างมานานหลายปี หลังจากเสียความมั่นคงในตำแหน่งผู้จัดการทีม จากการเสียเดวิด มอยส์ ที่อยู่กับทีมมายาวนาน และแทนที่ด้วย โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการ “เปลี่ยนแผ่นดิน” ในยุคก่อน ๆ เจ้าของใหม่มา อะไรก็ใหม่หมด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ฟุตบอล อาจมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการเล่นในสนาม มีเรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากในการผลักดันทีม แต่สุดท้ายแล้ว เงินทอง ชื่อเสียง ผลงานทุกอย่าง จะสร้างขึ้นได้หากรากฐานของทีมมีความแข็งแกร่ง และเคารพในการทำงานของทีม ที่สำคัญต้องหาคนที่ใช่ ในการทำงานให้เจอ หรือถ้าคิดว่าไม่การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิด
เอฟเวอร์ตัน ในยุคของโมชิริ ไม่ต่างจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือว่า เชลซี ในแง่ของการลงทุนในทีม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันเลยคือ รากฐานของการเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ “เศรษฐีใหม่” ในปี 2008 พวกเขาเปลี่ยนแปลงทีมในช่วง 3-5 ปีแรกเยอะมาก แต่พวกเขาลงทุนหนัก อดทนรอ และเจอคนที่ใช่ มาถึงวันนี้พวกเขาคือทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษหลังสุดของพรีเมียร์ ลีก
เชลซี “เศรษฐีใหม่” ในปี 2003 พวกเขาก็ไม่ต่างกัน เปลี่ยนแปลงทีมเยอะในช่วง 3-5 ปีแรกของการเทคโอเวอร์เช่นกัน แต่สุดท้ายเมื่อ เจอคนที่ใช่ เมื่อยกระดับทีมขึ้นมาได้ พวกเขาไม่เคยมองย้อนไปข้างหลังอีกเลย อาจจะเปลี่ยนโค้ชอยู่บ่อยครั้ง แต่มาตรฐานทีมไม่เคยเปลี่ยน เพราะเชลซี ก่อนวันเข้ามาของ โรมัน อบราโมวิช พวกเขาก็เป็นทีมระดับหัวตารางของลีกอยู่ก่อนแล้ว ที่เหลือคือการยกระดับจากทีมหัวตารางไปเป็นทีมแชมป์ลีก ซึ่ง ณ วันนี้ พวกเขาต่อยอดไปถึงแชมป์ยุโรป 2 สมัยเรียบร้อยแล้ว
เอฟเวอร์ตัน “เศรษฐีใหม่” ในปี 2016 เวลานี้ มีส่วนผสมคล้ายกับสองทีมนี้รวมกัน พวกเขาเหมือนกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก่อนตกถังข้าวสาร จากทีมบ้าน ๆ อยู่รอดไปในแต่ละฤดูกาล กลายมาเป็นทีมลุ้นความสำเร็จมากขึ้นได้ด้วยพลังเงิน และก็เหมือนกับเชลซีที่ว่า เมื่อใครทำให้ผิดหวัง พวกเขาก็พร้อมเปลี่ยนแปลงโค้ชบ่อยมาก มากเหมือนใบไม้ร่วง
สิ่งที่ เอฟเวอร์ตัน ตอนนี้มองหาไม่ใช่นักเตะที่เก่งที่สุดในตลาด แต่พวกเขามองหา “แผนงาน” ที่พร้อมจะเชื่อมั่นกับมันได้ยาวนานกว่าที่เป็นอยู่ ไม่อย่างนั้นก็วนลูปกันแบบนี้ไม่เลิกรา ตั้งโค้ชใหม่ – ลงทุนซื้อนักเตะ ตั้งเป้าไปยุโรป- ผลงานไม่ดีปลด – ตั้งโค้ชใหม่ อย่างนี้เรื่อยไปเหมือนตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
"“Put the right man on the right job & spend money and time on the right people” [เลือกคนที่ใช่ให้ถูกงาน ใช้เงินและเวลาให้ถูกคน]"
ทุก ๆ นาทีที่ 27 ของการแข่งขันที่ผ่านมาในระยะหลังแฟนบอล เอฟเวอร์ตัน จะมีการเดินออกจากสนามของทีม แสดงสัญลักษณ์ที่ว่า พวกเขารอคอยความสำเร็จมานานถึง 27 ปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้หอมหวานกับการเป็นแชมป์ มันคือ เอฟเอ คัพ ในปี 1995 ซึ่งหากวันนั้นคุณเพิ่งเกิด มาวันนี้คุณอาจจะมีลูกชายเพิ่งเกิดในวันนี้ก็เป็นได้…มันยาวนานเกินไปสำหรับพวกเขา “People Club” สโมสรที่น่ารัก และเป็นกันเองมากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยสัมผัสมาด้วยตัวเอง