เมื่อ “ผู้นำ” ไม่ได้หมายถึงคนเพียงคนเดียว กรณีตัวเลือกกัปตันทีม อาร์เซนอล หลังปลด โอบาเมยอง - FEATURE

Norwich City v Arsenal - Premier League
Norwich City v Arsenal - Premier League / Harriet Lander/GettyImages
facebooktwitterreddit

กรานิท ชาก้า (29 ปี สัญญาถึงกลางปี 2024) กองกลางทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์กำลังก้าวเข้าสู่ฤดูกาลที่ 6 กับ อาร์เซนอล สโมสรในพรีเมียร์ ลีก ซึ่ง ณ เวลานี้เขากลายเป็น “ซีเนียร์” ตัวหลักของทีมที่อยู่กับทีมยาวนานที่สุด หลังการย้ายมาร่วมงานกับ อาร์เซนอล ในเดือนกรกฎาคม 2016 จากสโมสร โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ในบุนเดสลีกา เยอรมัน (หมายเหตุ : คาลัม แชมเบอร์ส (2014) และ โมฮัมเหม็ด เอลเนนี่ (มกราคม 2016) คือสองคนในทีมชุดปัจจุบันที่อยู่กับทีมมานานกว่า ชาก้า แต่ทั้งสองคนไม่ใช่ตัวหลักของทีม)

ชาก้า ผ่านเรื่องราวมาตลอด 5 ปี ที่ต้องบอกว่า “ขึ้นสุดก็อาจจะยังไม่ใช่ แต่ลงสุดน่ะจมดิน” มาแล้ว เขามีช่วงเวลาที่หลากหลายอารมณ์มากมาย ต่อสู้มาโดยตลอด ทั้งในสนาม และนอกสนาม ที่หลายครั้งเขาคือ “แพะรับบาป” ของความพ่ายแพ้ คือ “ที่ระบายอารมณ์” ของความผิดหวัง 

เอมี่ ลอว์เรนซ์ หนึ่งในนักข่าวหญิงสายอาร์เซนอล แห่ง ดิแอธเลติก และดิออฟเซิร์ฟเวอร์ ได้มีการสัมภาษณ์ ชาก้า กับหลายปีที่ผ่านมาของเขา เขาเพิ่งต่อสัญญาใหม่กับทีมไปจนถึงกลางปี 2024 หลังการย้ายทีมสู่ อาแอส โรม่า ในหน้าร้อนที่ผ่านมาจบลงด้วยการล้มเหลว มาวันนี้ “อดีตกัปตันทีม” อาร์เซนอล ยังคงเป็นตัวหลักของปืนใหญ่ กับเป้าหมายในการกลับไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ให้ได้อีกครั้ง 

โดยส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ได้มีการพูดถึงเรื่องของความเป็นผู้นำในทีมเอาไว้ได้ ซึ่งบทความนี้ ผมตัดบางส่วนของสัมภาษณ์มาประกอบเรื่องราวนี้ เพื่อมาขยายความเข้าใจให้กับแฟนบอลว่า ทุกวันนี้ อาร์เซนอล กับตำแหน่งผู้นำทีม เป็นอย่างไร กับ ณ เวลานี้ อาร์เซนอล ปลด ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยอง ออกจากตำแหน่งแล้ว พร้อมกับเลือกใช้ อเล็กซองเดร ลากาแซตต์ รับหน้าที่นี้แทนเป็นการชั่วคราว โดยยังไม่มีการประกาศว่าใครจะเป็นกัปตันทีมคนต่อไปของสโมสรอย่างเป็นทางการ

Granit Xhaka
Arsenal FC v Crystal Palace - Premier League / Visionhaus/GettyImages

ที่ผ่านมา อาร์เซนอล มียอดกัปตันทีมมากมาย นับจาก ​โทนี่ อดัมส์, ปาทริค วิเอร่า มาจนถึงในยุคของ แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ อย่างไรก็ตามนับจากนั้นเป็นต้นมา ทีมกลับมีปัญหาในเรื่องนี้ อาร์แซน เวนเกอร์ เคยกล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่าหน้าที่ของการเป็น “กัปตันทีม” เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วในวงการฟุตบอล และกล่าวเกี่ยวกับแนวคิดในการ “แบ่งหน้าที่ในฐานะของผู้นำทีมให้กับคนมากกว่าหนึ่งคน” ซึ่งในยุคของ เวนเกอร์ ในช่วงปลายการคุมทีม ก็มีการนำเรื่องนี้มาใช้งาน เพียงแต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก มี นักเตะ หลายคนในห้องแต่งตัวของทีมมีความเป็นผู้นำทีมหลายคน ณ เวลานั้น กอปรกับบารมีของเวนเกอร์ ทำให้บรรยากาศในห้องแต่งตัวเต็มไปด้วยความเคารพในการตัดสินใจของนายใหญ่ชาวฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของการทำงาน สังเกตได้จากหลายต่อหลายครั้งที่ นักเตะ ย้ายมาร่วมงานกับ อาร์เซนอลในช่วงนั้น เหตุผลหนึ่งที่เราจะได้ยินกันบ่อยครั้งคือ “อยากร่วมงานกับ อาร์แซน เวนเกอร์” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตอบในเรื่องนี้ 

การเข้ามาของ อูไน อเมรี่ ในปี 2018 อาร์เซนอล แต่งตั้ง โลรองต์ กอสเซียลนี่ เป็นกัปตันทีมของสโมสร อย่างไรก็ตาม “กอส เดอะ บอส” ในเวลานั้นยังมีอาการบาดเจ็บจากฤดูกาลก่อนหน้านั้น ทำให้เขากว่าจะกลับมาเป็นกัปตันทีมในสนามก็เกือบจะครึ่งฤดูกาลไปแล้ว ทีมจึงมีการโหวตกันในทีมเรื่องของ กัปตันทีม ขึ้นมาจำนวน 5 คน คอยมารับงานในเรื่องนี้ ซึ่งในช่วงแรกก็โดนวิจารณ์ถึงการไม่มีความเป็นผู้นำในทีมอยู่ไม่น้อย ก่อนที่ปีต่อมา กรานิท ชาก้า จะรับปลอกแขนเต็มตัว และเกิดกรณีพิพาทกับแฟนบอล ในช่วงเดือนตุลาคม 2019 จนทำให้ทีมตัดสินใจปลดเขาออกจากตำแหน่ง เพื่อลดแรงกดดันจากแฟนบอลที่กำลังโกรธเกรี้ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมกับ คริสตัล พาเลซ และส่งตำแหน่งนี้ให้กับ ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยอง แทน ก่อนที่สุดท้าย “โอบา” ก็เสียตำแหน่งนี้ไปอีกคนจากปัญหาเรื่องเกี่ยวกับวินัยในการเป็นตัวอย่างที่ดีของเพื่อนร่วมทีม ซึ่งในยุคนี้ อาร์เซนอล กลายเป็นทีมที่มีค่าเฉลี่ยทีมประมาณ 24 ปีเท่านั้น น้อยที่สุดของพรีเมียร์ ลีก ในฤดูกาล 2021-2022

ที่ผ่านมานับตั้งแต่ อาร์เตต้า เข้ามาคุมทีมอาร์เซนอล เขาใช้เวลาพอสมควรในการจัดการทีม รวมถึงเรื่องของ “ผู้นำทีม” ซึ่ง ดาวิด ลุยซ์ เป็นหนึ่งในนักเตะสำคัญที่มีบทบาทในห้องแต่งตัวมากที่สุดคนหนึ่งของทีม ตามด้วย กรานิท ชาก้า และ อเล็กซองเดร ลากาแซตต์ ซึ่งหลังการแยกทางกับกองหลังบราซิล และ อาร์เซนอล มีการปรับแนวคิดในการทำทีม ซึ่งเน้นการพัฒนานักเตะดาวรุ่ง และเสริมทีมด้วยนักเตะอายุน้อยจนเป็นที่มาของการลงเล่นมากกว่า 150 ล้านปอนด์ ซึ้อนักเตะ 6 คน ที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเข้ามาเสริมทีม บทบาทของนักเตะ ซีเนียร์ ในทีมก็ยิ่งมีความชัดเจนขึ้น 

ในแง่ของในสนาม อาร์เซนอล เหลือ นักเตะ ซีเนียร์ ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 28 ปี อยู่ 9 คน และในกลุ่มนั้นมีเพียงสามคนที่เป็นตัวหลัก (ลากาแซตต์ - ชาก้า และ ปาเตย์) ส่วน แบนด์ เลโน่ และ โอบาเมยอง ณ ตอนนี้พวกเขาคือตัวสำรอง ร่วมกับ เซดริก โซอาเรส, โมฮัมเหม็ด เอลเนนี่, ปาโบล มารี, เซอัด โคลาซินัค ซึ่ง 5 คนหลังสุด อาจจะต้องออกจากทีมหลังจบฤดูกาลนี้กันทั้งหมด 

อาร์เซนอล มีความพยายามใช้ระบบของ “กลุ่มผู้นำทีม” มาตั้งแต่ที่ ดาวิด ลุยซ์ ยังอยู่กับทีมแล้ว อเล็กซองเดร ลากาแซตต์ เป็นหนึ่งนักเตะรุ่นใหญ่ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากรุ่นน้องมาตลอดถึงความกรุณา และน้ำใจในการสอนอะไรมากมายกับพวกเขา เช่นเดียวกับ ชาก้า ที่แม้ว่าปลอกแขนจะหลุดไปแล้ว แต่ ภาวะความเป็นผู้นำ ทั้งในสนาม และในห้องแต่งตัว เขายังเป็นคนสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนอีกคนที่แฟนบอลได้เห็นการสวมปลอกแขนกัปตันทีมคือ ร็อบ โฮลดิ้ง ที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 2016 นับเป็นคนที่อยู่กับทีมนานที่สุดลำดับต้นๆ ของทีม ซึ่งยังมีบทบาทกับทีมอยู่ แม้จะเป็นตัวสำรอง แต่ก็เป็นสำรองทางเลือกแรกในตำแหน่งกองหลังตัวกลาง และเป็นหนึ่งในแข้งชาวอังกฤษที่ อาร์เตต้า ยังคงให้ความสำคัญ เพราะนี่คือสโมสรในประเทศอังกฤษ นักเตะอังกฤษ จึงควรมีบทบาทสำคัญในเรื่องของทีมด้วย

Alexandre Lacazette, Rob Holding
Arsenal v Southampton - Premier League / Justin Setterfield/GettyImages

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีกับการมี กลุ่มผู้นำ (Leadership Group) เราสามารถที่จะแบ่งหน้าที่ในการทำงานร่วมกัน หรือเสนอแนวความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยกันได้ ส่วนตัวผมคิดว่าระบบ กัปตัน และ รองกัปตันทีม เป็นระบบที่ล้าหลังไปแล้ว ผมคิดว่ามันเหมือนกับสถานการณ์เดียวกับในเกมทีมชาติ ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมกันในทีมนี้ทั้งหมด เราช่วยเหลือกันเสมอ เพราะผมไม่เชื่อหรอกว่ามันจะเพียงพอกับการมี ผู้นำเพียง 2-3 คนภายในทีม” กรานิท ชาก้า กล่าวถึงเรื่องของการเป็นผู้นำทีม

"“เวลานี้ ลากาแซตต์ เป็นกัปตันทีม ผมมีความสุขกับเขามาก เขาเป็นคนสำคัญของทีมทั้งในและนอกสนาม เป็นคนที่เพื่อนร่วมทีมรัก และได้รับการเคารพจากผู้เล่นคนอื่น และมีประสบการณ์ในทีมมาหลายปี เราต้องการนักเตะแบบนี้ เขาอยู่กับทีมเสมอ ไม่เคยมาสาย เต็มไปด้วยวินัย เป็นคนตลก และพร้อมคุยกับคุณได้เสมอ ผมเชื่อว่า ณ เวลานี้ มันเหมาะสมแล้วกับเขาในการรับบทบาทกัปตันทีม”"

กรานิท ชาก้า

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับ โอบาเมยอง ผมรู้ดีกว่าใครว่าเขารู้สึกอย่างไร เรื่องของผมอาจจะต่างจากสิ่งที่ โอบา กำลังประสบอยู่ บางทีมันอาจไม่ใช่การถอยหลัง แต่มันคือการก้าวไปข้างหน้าก้ได้ ผมคิดว่าเขาแกร่ง แข็งแกร่งพอ มีประสบการณ์มากพอ ที่จะกลับมาดีกว่าเดิม ผมมั่นใจว่าทุกอย่างมีเหตุผลในตัวเอง ไม่มีอะไรทำให้คุณตกต่ำได้หรอก ถ้าคุณคิดบวกเอาไว้ ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าจะกลับมาได้ ผมเชื่อว่าเขาจะกลับมาได้แน่”

แนวคิดการทำงานของกลุ่มผู้นำทีม มีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างทีมงานของ อาร์เซนอล ซึ่ง มิเคล อาร์เตต้า ในฐานะเฮดโค้ชของสโมสร เป็นเสมือนกัปตันทีม เขามีการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้จัดการทีมขึ้นมา ณ เวลานี้ 4 คนด้วยกัน ไม่รวมถึง อินากิ กาน่า ซึ่งเป็นโค้ชนายทวาร และ นิโกล่าส์ โจเวอร์ ซึ่งเป็นโค้ชเฉพาะทางด้านลูกตั้งเตะโดยตรง โดยชื่อของ สตีฟ ราวด์, อัลเบิร์ต สตูเวนเบิร์ก, คาร์ลอส เกวสต้า และ มิเกล โมลิน่า คือผู้ช่วยของอาร์เตต้า แต่ละคนมีหน้าที่แตกต่างกัน แบ่งงานหลักชัดเจน บางส่วนคืองานร่วมกันของทุกคน ทุกการประชุมทีม ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับทีมทั้งสิ้น

Pierre-Emerick Aubameyang
Arsenal v Burnley - Premier League / Catherine Ivill/GettyImages

สตีฟ ราวด์ มีหน้าที่ในการประสานงานของทีม เขาเป็นเหมือนตัวแทนของ มิเคล อาร์เตต้า ในการพูดคุยกับเหล่า ผู้นำทีมในสนาม เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆในทีม แนวคิดการทำงาน ความไม่พอใจ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีม ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้ในเรื่องของการทำงาน 

“การมีกลุ่มแบบนี้มันก็มีข้อดี เราแชร์แนวคิดด้วยกัน และยิ่งตอนนี้ทีมชนะต่อเนื่อง อะไรมันก็ง่ายไปหมด เพราะทุกคนกำลังมีความสุขกับผลงานที่ออกมา แต่เราก็รู้ว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากจะมาถึงอย่างแน่นอน และเราต้องแน่ใจว่า ถ้าเหตุการณ์แย่ ๆ กลับมาอีกครั้ง เราจะพร้อมรับมือกับมันอย่างเต็มที่ และเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยกลุ่มผู้นำทีมจะต้องเป็นคนที่ปกป้องคนอื่นในทีม เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ และทำต่อไปเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้”

“ผมผ่านช่วงเวลาที่ดำมืดของค่ำคืนมาแล้วหลายครั้ง ทุกคนสามารถเดินหนีจากมันไปได้ มันเป็นเรื่องปกติมาก ก็แค่เปิดประตูและเดินออกไป แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมเชื่อว่าตัวเองคืนคนที่ใช่ของสโมสร ผมอยากตอบแทนบางอย่างกลับไป ผมจะทำทุกอย่างเพื่อให้สโมสรแห่งนี้ชนะ มันคือแพสชั่นของผม ผมมาที่นี่ในปี 2016 ทีมได้ไปเล่นในแชมเปี้ยนส์ ลีก แน่นอนผมหวังว่าผมจะได้ลงเล่นทุกปี แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต แต่ด้วยความสัตย์จริง ถ้าผมเลือกใหม่ได้ในปี 2016 ผมก็ยังจะเซ็นสัญญากับอาร์เซนอลไม่เปลี่ยนแปลง”

Victoria Concordia Crescit มอตโต้ที่อยู่คู่กับสโมสรมาอย่างยาวนาน “ชัยชนะมาจากความเป็นหนึ่งเดียว” ถึงเวลานี้ อาร์เซนอล กำลังสร้างมันขึ้นอีกครั้งในรูปแบบที่ต่างจากเดิม แต่เป้าหมายยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง