มองต่างคนละมุมเดียวกัน เจอร์ราร์ด / ซาก้า - FEATURE
สตีเว่น เจอร์ราร์ด ผู้จัดการทีม แอสตัน วิลล่า กล่าวหลังจากที่บูคาโย่ ซาก้า (20 ปี สัญญาถึงกลางปี 2024) ปีกอาร์เซนอล พูดถึงการที่เขาหวังจะได้รับการปกป้องจากกรรมการในพรีเมียร์ ลีกมากกว่านี้
ซาก้า ถูก ไทโรน มิงส์ แนวรับแอสตัน วิลล่า เสียบทั้งบอลทั้งคน (โดนบอลก่อน จะตามมาโดนข้อเท้าได้เลือดกันไป) ซึ่งจบลงด้วยการโดนใบเหลืองของแนวรับทีมชาติอังกฤษ ส่วน ซาก้า ลงเล่นต่อไปจนถึงกลางครึ่งหลังและโดนเปลี่ยนออกซึ่งหลังเกมปีกทีมชาติอังกฤษก็มีการกล่าวถึงในเรื่องนี้
“ผมไม่ต้องการไปบ่นอะไรกับกรรมการทั้งนั้น แต่ผมต้องการให้เขารู้ว่ามันคือการเล่นของผมที่วิ่งด้วยความเร็ว และบางครั้งผมก็จำเป็นต้องได้รับการปกป้องมากกว่านี้ เมื่อมีผู้เล่นที่ตั้งใจพยายามเข้ามาเตะผม” บูคาโย่ ซาก้า กล่าวหลังเกมกับ แอสตัน วิลล่า
ขณะที่เจอร์ราร์ดก็ออกมากล่าวในเรื่องนี้เช่นกัน มันเป็นเรื่องปกติของกีฬาฟุตบอล และซาก้าจะต้องเรียนรู้กับเรื่องนี้
“มันเป็นส่วนหนึ่งของเกม ครั้งสุดท้ายที่ผมเช็คมันไม่ใช่กีฬาที่ห้ามสัมผัสตัวกัน ผมคิดว่าการเข้าสกัด หรือการปะทะของร่างกายเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตในกีฬานี้ ผมนั่งคุยกับพวกคุณ(สื่อมวลชน) ด้วยการมีนอตสกรูอยู่ในสะโพก ผมผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 16 ครั้ง ผมมีปัญหาในการเดินเข้าไปที่ยิมมากในเวลานี้ มันคือสิ่งที่ผมได้มาจากการลงเล่นฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ และเขาจะเรียนรู้ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว” สตีเว่น เจอร์ราร์ด กล่าว
ในยุคที่การมี VAR เข้ามาดูแลกำกับ การทำประตูเข้าหรือไม่เข้า – ล้ำหน้าไม่ล้ำหน้า – ใบแดงหรือไม่ใบแดง พร้อมกับการติดตั้งกล้องเอาไว้หลายมุมรอบสนาม การเข้าบอลหนักแบบในยุค 90 หรือต้นศวตวรรษ 20 มันก็ควรจะลดน้อยลงไปตาม “ตัวช่วยที่เข้ามา”
การเข้าปะทะเป็นเรื่องปกติของการเล่นกีฬาหลายชนิด บางชนิดปะทะกันรุนแรงมาก บางชนิดก็น้อย และบางชนิดไม่มีการเข้าปะทะเลย ฟุตบอลจัดเป็นแบบที่หนึ่ง
เรากำลังพูดถึง “ยุคใหม่” ของฟุตบอลที่เริ่มต้นจากเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับการตัดสินใจร่วมกับใช้ “วิจารณญาณ” ของผู้ตัดสิน บนข้อเท็จจริงที่ว่า “วิจารณญาณ” ของมนุษย์คือคำตัดสินสุดท้าย
ในกรณีของ ซาก้า ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ยุคใหม่” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของการตัดสินให้ดีขึ้น ในฐานะที่เขาคือสายความเร็วเหมือนกับ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, จาดอน ซานโช่, ซาดิโอ มาเน่ หรือกระทั่งแบ็คความเร็วจัดจ้านอย่าง ทาริค แลมเตย์ พวกเขาวิ่งมาด้วยความเร็วแล้วถูกตัดสกัดบอล มันเป็นเรื่องปกติมากที่ต้องเจอ บางจังหวะเอาตัวรอดได้ บางจังหวะลอยกลางอากาศตกลงมานอนเจ็บก็ไม่รู้กี่ครั้งจากการโดนสอยเพื่อหยุดพวกเขา คำถามคือ กรรมการปกป้องอะไรพวกเขาบ้าง แล้วจังหวะที่โดนอัดหนัก ๆ มาตรฐานการตัดสินอยู่ตรงไหน
ในกรณีการสัมภาษณ์ของเจอร์ราร์ด มองเห็นถึงความเป็นคน “ร่วมสมัย” และรุ่นพี่ในวงการ พรีเมียร์ ลีก สตีวี่ จี อยู่ในยุคสมัยที่โตมาคือการต่อสู้ชนเป็นชน เสียบจริงเจ็บจริง เขาโตมาในแบบนั้น และในฐานะนักเตะเขาก็ได้ชื่อว่า ขาโหด เข้าหนักคนหนึ่ง หลายครั้งจบด้วยใบแดง และหลายครั้งเขาคือคนที่ลงไปนอนดิ้นเพราะโดนอัดหนักจากอีกฝ่าย
เราเคยกล่าวถึงเรื่องของ VAR มาแล้วหลายครั้ง กับความเห็นที่ว่า กรรมการในสนามหากได้ฟังจากห้อง VAR เรื่องการฟาลว์รุนแรง หรือเขาคิดว่านี่คือการฟาลว์รุนแรงระดับใบแดงได้ ควรวิ่งดูภาพช้าข้างสนามทุกครั้งเพื่อการตัดสินที่ถูกต้อง เพราะกรรมการในสนามเห็นชัด หรือไม่ชัดก็ตาม มันก็เกิดขึ้นในวินาทีนั้นแล้วจบลง เช่นเดียวกับจังหวะการตัดสินให้จุดโทษหรือไม่ให้ เพื่อความยุติธรรมของตัวกรรมการเอง ในการจะมีเหตุผลในการตัดสิน อย่างน้อยก็เพื่อตัวเขาเองว่าเขาได้เลือกแล้วว่าจะตัดสินแบบใด ถ้าสุดท้ายการเลือกของเขามันพลาดเขาก็ต้องรับผิดชอบไปเช่นกัน ในฐานะของผู้ชี้ขาดในสนาม ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่ VAR มาบอกว่าต้องเลือกแบบใด
ที่ผ่านมาในวงการฟุตบอลยุค VAR ก็ยังคงมีการตัดสินค้านสายตาหลายครั้ง ยกตัวอย่างของ พรีเมียร์ ลีก ปีแรกกับการใช้ VAR เรื่องการตีเส้นล้ำหน้าก็เป็นที่โดนวิจารณ์อย่างหนัก จนต้องมีการปรับปรุงกันมาตลอด เช่นเดียวกับกับการแฮนด์บอลหรือไม่ ซึ่งล่าสุดในเกมกับ เอฟเวอร์ตัน - แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับการบอลโดนแขนของ โรดรี้ ที่จบด้วย “คำขอโทษ” จากรรมการที่ไม่สามารถแก้ไขผลการแข่งขันได้ของพรีเมียร์ ลีก
นั่นหมายความว่าตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ตัดสินความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครถูกทุกอย่าง เป๊ะทุกเรื่อง โดยเฉพาะการตัดสินอะไรในเสี้ยววินาที ดังนั้น VAR และเทคโนโลยีจึงเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ แต่หากยังตัดสินพลาดอีก อันนี้ต้องพิจารณาแล้วล่ะว่า “Personal Error” ตรงนี้ บทลงโทษคืออะไร ความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน และมาตรฐานการตัดสินอยู่ตรงไหน
“ฟุตบอล” เป็นกีฬาไม่สามารถที่จะบอกว่าห้ามปะทะกันแรง จังหวะนี้ 50:50 ต้องหลบ มันคือการต่อสู้ คือการแย่งชิงชัยชนะ การเข้าบอลหนักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เจอร์ราร์ด ผู้ผ่านตรงนั้นมาแล้ว ก็เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ ซาก้า ประสบคือเรื่องที่ต้องเจอ แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ ซาก้า หรือนักเตะรุ่นใหม่เหล่านี้ ต้องเจ็บหนัก ๆ ก่อนถึงจะเติบโต หรือต้องผ่าตัดมาแล้วหลายครั้งจนร่างกายหลังเลิกเล่นมีปัญหาแบบนั้นหรือเปล่า เพื่อแลกมากับความสำเร็จในเส้นทางอาชีพ คำตอบคือ “แล้วแต่ดวง” เพราะมันไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ตราบใดที่คุณยังเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนการฟาลว์ เป็นหนึ่งในแท็คติกการเล่นที่ใช้กันทุกสโมสร
แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อวันนี้ VAR ก็มาแล้ว เทคโนโลยีก็ล้อมสนามฟุตบอลไปหมดแล้ว ทำไมเวลาการปะทะหนัก ๆ เพื่อการตัดเกมหรือการฟาลว์รุนแรง ที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ถึงยังไม่ได้รับการตัดสินที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนเสียทีจากกรรมการผู้ตัดสิน เป็นคำถามที่ ซาก้า ต้องการจากสื่อไปยังกรรมการ หรือกระทั่งคนด้านบนของพรีเมียร์ ลีก ที่ยังคง “มองเห็นแต่ไม่ใส่ใจ” กับเรื่องนี้แบบจริงจังเสียที
เชื่ออย่างยิ่งว่าความเห็นของ ซาก้า ก็จะเป็นเพียงแค่ข่าวที่ “ลอยลม” ไม่กี่วันคนก็ลืม เช่นเดียวกับที่ เจอร์ราร์ด กล่าวถึงรุ่นน้องให้ต้องเรียนรู้จะ “ปรับตัว” เอาให้รอดแบบคนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน และอาจรู้ด้วยว่าพูดไปเท่าไร พรีเมียร์ ลีก และทีมงานกรรมการ ยังคง “ลอยตัว” อยู่เหนือทุกปัญหาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่คนที่แก้ไขได้ไม่คิดจะแก้ไข และปล่อยให้มันเป็นแบบเดิมต่อไปแม้ว่าจะใกล้ครบ 30 ปีการเปลี่ยนชื่อมาเป็นพรีเมียร์ ลีก แล้วก็ตาม